วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญๆ ในอดีต



การเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญๆ ในอดีต โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงคลื่นขนาดใหญ่ที่เกิดจากภูเขาไฟ ระเบิดในทะเลอีเจียน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อ ประมาณ ๓,๖๐๐ ปีมาแล้ว ในครั้งนั้นปรากฏว่า ภูเขาไฟที่เกาะซานโตรินี (Santorini) ซึ่งปัจจุบันเรียกชื่อว่า เกาะทีรา (Thira) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศกรีซ เกิดการปะทุอย่างรุนแรง จนทำให้ตัวเกาะหายไป เกือบหมด และเกิดคลื่นขนาดใหญ่ติดตามมา ทำให้ผู้คนล้มตายและอาคารบ้านเรือน เสียหาย ผลจากพิบัติภัยในครั้งนั้นทำให้วัฒนธรรมมิโนอา (Minoan Culture) ของกลุ่มชนโบราณ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะครีตต้องเสื่อมสลายลง การเกิด คลื่นใหญ่ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการเกิดคลื่นจากแผ่นดินไหว หรือคลื่นสึนา มิ ที่มีการบันทึกไว้เก่าแก่ที่สุด

ในพ.ศ. ๒๓๙๘ ได้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรียในยุโรปตอน ใต้ ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งของประเทศ โปรตุเกส สเปน และโมร็อกโก มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและคลื่นใหญ่ ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน

วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ภูเขาไฟบนเกาะกรากะตัว (Krakatoa) ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรากับเกาะชวาในช่องแคบซุนดาของประเทศ อินโดนีเซีย ได้เกิดการปะทุอย่างรุนแรง และเกิดคลื่นยักษ์สูงมากกว่า ๓๐ เมตร ซัดเข้าหาฝั่งเกาะสุมาตราและเกาะชวา มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๓๖,๐๐๐ คน ซากปะการัง เศษหิน และวัสดุต่างๆ ถูกคลื่นหอบขึ้นบนฝั่ง หนักประมาณ ๖๐๐ ตัน และหมู่บ้านตามชายฝั่งถูกทำลายเสียหายประมาณ ๑๖๕ แห่ง นับเป็นพิบัติภัยครั้งใหญ่ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดและคลื่นสึนามิ ใน ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๙ เกิดคลื่นสึนามิ ชื่อ เมจิซันริจุ (Meiji Sanriju) ที่ประเทศ ญี่ปุ่น เคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่งสูงประมาณ ๓๐ เมตร มีผู้เสียชีวิต ประมาณ ๓๗,๐๐๐ คน และบ้านเรือนเสียหายประมาณ ๑๐,๐๐๐ หลัง

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณชายฝั่งของรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ต่อมาอีกประมาณ ๕ ชั่วโมง คลื่นสึนามิได้เคลื่อนที่ไปถึงเมืองฮีโล (Hilo) บนเกาะฮาวาย ของรัฐฮาวาย ในมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นสูงประมาณ ๖ เมตร ทำลายอาคารบ้านเรือน สะพานรถไฟ และถนนเลียบชายหาดเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๖๐ คน

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ เกิดแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งของประเทศชิลี ในทวีปอเมริกาใต้ และได้เกิดคลื่น สึนามิแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในมหาสมุทรแปซิฟิกปรากฏว่าที่รัฐฮาวายของ สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึง ๑๐,๖๐๐ กิโลเมตร ได้รับภัยจากคลื่นสึนามิที่เคลื่อนตัวด้วยความเร็วประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตที่เมืองฮีโล ๖๑ คน คลื่นสึนามิยังเคลื่อนตัวต่อไปถึงประเทศญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิต ประมาณ ๑๔๐ คน

วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เกิดคลื่นสึนามิที่ชายฝั่งของประเทศนิการากัว ในอเมริกากลาง ยอดคลื่นสูง ประมาณ ๑๐ เมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๗๐ คน และบ้านเรือนเสียหายประมาณ ๑๓,๐๐๐ หลัง

วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เกิดคลื่นสึนามิที่เกาะฟลอเรส ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ยอดคลื่นสูง ประมาณ ๒๖ เมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒,๑๐๐ คน

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เกิดแผ่นดินไหวบริเวณใกล้ชายฝั่งตะวันออกของเกาะนิวกินี ซึ่งอยู่ทางเหนือของทวีปออสเตรเลีย ทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่บริเวณชายฝั่ง ของประเทศปาปัวนิวกินี ทำลายป่าชายเลนและอาคารบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก มี ผู้เสียชีวิตที่เมืองไอตาเป (Aitape) ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายฝั่งตอนเหนือของประเทศ ประมาณ ๒๒,๐๐๐ คน

ปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่นำมากล่าวไว้ข้างต้นนี้ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของ การเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ยังมีคลื่นสึนามิครั้งย่อยๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะเวลาต่างๆ จากการศึกษาของนักธรณีวิทยาเกี่ยวกับ ความถี่ของการเกิดคลื่นสึนามิในโลกว่ามีบ่อยครั้งเพียงใด ได้มีผลงานของโซโลเวียฟ (Soloviev) ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยองค์การยูเนสโก สหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ให้ความเห็นว่าคลื่นสึนามิที่มีความรุนแรงมากมักเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย ๑๐ ปีต่อครั้ง ส่วนคลื่นสึนามิที่มีความรุนแรงปานกลางเกิดขึ้น ๑ - ๓ ปีต่อครั้ง และคลื่นสึนามิที่มีความรุนแรงน้อยเกิดขึ้น ๔ - ๘ เดือนต่อครั้ง นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับความถี่ของการเกิดแผ่นดิน ไหวที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิในประเทศอินโดนีเซียทุกๆ คาบ ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๓ - พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งรายงานว่าในแต่ละคาบ ๑๐ ปี จะมีแผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิระหว่าง ๑ - ๑๒ ครั้ง แต่เมื่อครบรอบทุก ๗๐ ปีครั้งใด จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๔ - ๒๑ ครั้งในคาบ ๑๐ ปีนั้น นอกจากนี้การเกิดแผ่นดินไหวจะมีจำนวนครั้งและความรุนแรงทางด้านตะวัน ออกของประเทศอินโดนีเซียมากกว่าทางด้านตะวันตก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น