วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ คือ เนื้องอกที่เจริญเติบโตโดยไร้การควบคุม เนื้องอกแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง และที่เป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย

มะเร็งตับที่เกิดขึ้นในตับเอง หรือที่เรียกว่ามะเร็งตับปฐมภูมิ (Primary Liver Cancer) นั้น แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือมะเร็งเซลล์ตับ (Hepato-cellular Carcinoma) และมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangio Carcinoma)

สำหรับมะเร็งทุติยภูมิ คือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ ลำไส้ ไม่ถือว่าเป็นมะเร็งตับ

ในประเทศไทยเรานั้น 95% เป็นมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma เรียกย่อว่า HCC) และพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่พบมากที่สุดในภาคกลาง

เนื่องจากตับของคนเรามีขนาดใหญ่ คือเป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีกำลังสำรองมาก ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับในระยะแรกจึงมักไม่มีอาการอะไร เพราะตับยังคงทำงานได้เกือบปรกติ เมื่อมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นก้อนมะเร็งก็มีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุว่าผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับมักมีอัตราการอยู่รอดเพียง ไม่กี่เดือน เพราะเมื่อพบก็สายเกินไปแล้ว เมื่อมะเร็งได้ลุกลามและมีขนาดใหญ่มากแล้ว

ภาพจาก www.sirweb.org

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จังหวัดตรัง


“จังหวัดตรัง”


เป็นจังหวัดที่ผมไม่ค่อยจะคุ้นเคยมากนัก อย่างมากก็เพียงแค่ขับรถผ่าน เพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่น แวะทานข้าวกลางวัน ซดกาแฟโบราณแบบไทยแท้ และซื้อของฝาก “เค็กเมืองตรัง” ติดมือไปฝากบรรดาญาติๆเท่านั้นเอง หมูย่างที่ได้ยินว่าอร่อยนัก อร่อยหนา ก็ไม่เคยได้ลิ้มลอง พราะไปทีไรเห็นเก็บร้านปิดประตูกันหมดแล้วทุกที

จำได้ว่าเคยแวะผ่านเข้าไปในเมืองตรังอยู่ 2- 3 ครั้ง ก็ไม่เคยเห็นร้านหมูย่างเลยแม้แต่ ครั้งเดียว ขนาดขับรถไปตามทางที่คนแถวนั้นแนะนำ ก็เจอแต่ร้านที่ปิดประตูเงียบสนิท



เก็กซิมจริงๆ..... สงสัยจะดวงไม่ดีเลยไม่มีโอกาสกินหมูติดมัน (ดี จะได้ไม่อ้วน)

แต่มารู้ภายหลังว่า ถ้าจะทานหมูย่างเมืองตรังแล้วต้องมาตอนเช้าๆ เพราะคนที่นี่ เค้าจะทานกันเป็นอาหารเช้า ฟังแบบนี้แล้ว นักท่องเที่ยวที่ผ่านมา ในช่วงเวลาอื่นเป็นอันว่าหมดสิทธิ์แน่ๆ


เดือน เมษายน 2542 ผมมีโอกาสลาพักร้อนได้ยาวนาน เพื่อเดินทางมาเที่ยวภาคใต้กับครอบครัว หลังจากอัดอั้นมาจากยุค IMF ซะจนย่ำแย่ตามๆ กัน คราวนี้ได้วางแผนเที่ยวทะเลตรัง ตามที่ได้ยินคำร่ำลือจากปากของเพื่อนๆหลายคนที่เคยไปมาแล้ว บอกว่าสวยมาก โดยเฉพาะ “ถ้ำมรกต” อีก ทั้งได้เล่าถึงการผจญภัยเสี่ยงชีวิตว่ายน้ำเข้าถ้ำในยามน้ำขึ้นท่ามกลาง คลื่นและพายุฝนกันอย่างสนุกสนาน ทั้งๆที่ตัวเองเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดกลับมา ยังยุให้ผมให้ไปถ่ายรูปในถ้ำนั้นมาให้ได้ บอกว่าในถ้ำมรกตสวยและแปลกกว่าที่อื่นๆ

ผมออกเดินทางโดยรถส่วนตัวในวันก่อนสงกรานต์ราว 4-5 วัน ตั้งใจจะหนีผู้คนในช่วงนั้น แวะเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในเส้นทางที่ผ่าน เริ่มจากประจวบ ชุมพร นั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามไปยังเกาะสมุย เที่ยวหมู่เกาะอ่างทอง แล้วกลับมาที่ท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฏร์ธานี จากนั้นตรงดิ่งมาจังหวัดตรังทันที

ขับรถยังไม่พ้นเขตจังหวัดตรังก็เจอฝนกระหน่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ท้องฟ้าเริ่มมืดมิดตั้งแต่เรือเฟอร์รี่แล่นเทียบท่าแล้ว นี่มันอะไรกัน ฤดูไหนกันแน่

ตลอดเส้นทางจาก จ.สุราษฏร์ สู่จังหวัดตรัง ต้องผจญกับฝนและลมที่กระหน่ำรุนแรง ทั้งๆที่อยู่ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างทางพบอุบัติเหตุที่พึ่งเกิดขึ้นแบบสดๆร้อนๆอยู่หลายจุด ไม่พ้นแม้กระทั่งรถตรวจการณ์ของตำรวจ ถูกชนตรงสี่แยกหน้าป้อมตำรวจ สภาพบุบบิบบู้บี้ 4-5 คันรวด คงเป็นเพราะขับเร็วและถนนลื่น หรืออาจเป็นเพราะแค้นเคืองตำรวจแถวนั้นหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ งานนี้ทายได้แบบไม่ต้องเดาว่าตำรวจไม่ผิด (อีกตามเคย)

พ้นฝน มาได้ก็เจอถนนโคลนบนเส้นทางสายทุ่งสง เขตจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นถนนกำลังก่อสร้าง จึงต้องขับรถช้าบ้าง เร็วบ้าง ตามสภาพของถนน และมีทางเบี่ยงค่อนข้างถี่ ส่วนถนนที่วิ่งได้คล่องตัวหน่อยก็เป็นดินลูกรังบดอัดผสมกับฝนที่พึ่งหยุดตก ทำเอารถเก๋งสีสวยๆหลายคันทดูกันไม่จืด วันนั้นรถรารู้สึกจะมากกว่าปกติ แน่นเต็มถนนทั้งที่บริเวณนั้นอยู่ห่างไกลจากชุมชนไม่ใช่น้อย ได้เห็นพฤติกรรมคนขับรถต่างจังหวัดแย่งกันขับ แย่งกันแซงแล้ว ช่างไม่ต่างกับที่เห็นในเมืองหลวงเลยแม้แต่น้อย

เสียเวลานานทีเดียวกว่าจะมาถึงอำเภอห้วยยอด ดินแดนของเค็กเมืองตรังที่ขึ้นชื่อ ครั้งแรกตั้งใจจะขับรถมาแบบสบายๆ กะคร่าวๆคงถึงห้วยยอด ราว 4 โมงเย็น แต่ต้องมาเสียเวลากับสภาพถนนและฝนตกหนักไปเกือบชั่วโมง ครั้นพอเข้าเขตห้วยยอดก็เจอฝนตกหนักซ้ำเข้าไปอีก มองไปทางไหน เห็นเป็นสีขาวโพลนด้วยสายฝน ร้านรวงที่อยู่ติดถนนก็ปิดร้านหลบฝนกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งลมทั้งฝนถล่มกันหนัก สาดมาเป็นระลอกๆตลอดเส้นทาง จนต้องเร่งที่ปัดน้ำฝนไปถึงความเร็วสูงสุด บนถนนมีน้ำนองเป็นช่วงๆเลยถือโอกาสล้างรถทั้งคันไปในตัว

ขับรถไปอีกไม่นานก็เข้าเขตอำเภอเมืองจังหวัดตรังในช่วงเวลาใกล้ค่ำพอดี ที่นี่ไม่มีฝนแม้แต่หยดเดียว แต่สภาพท้องถนนดูแล้วเปียกโชก เข้าใจว่าฝนคงทิ้งช่วงไปไม่นานนัก

หลัง จากที่ติดต่อกับบริษัทตรังทราเวิล ซึ่งเป็นบริษัททัวร์ของจังหวัดตรัง จัดการเรื่องเอกสาร (Voucher) เพื่อเป็นหลักฐานไปยังที่พัก และใช้ขึ้นเรือในวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็เดินทางต่อ ทุกอย่างดูค่อนข้างสะดวกเพราะติดต่อจองมาจากกรุงเทพแล้ว ระหว่างทางก็ได้ติดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือกันมาตลอด



คืนนี้ผมต้องนอนที่ “ปากเมง รีสอร์ต” ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดตรังออกไปราวสี่สิบกว่ากิโล รีสอร์ตอยู่ติดทะเลและอยู่ใกล้กับท่าเรือปากเมง สะดวกที่จะลงเรือท่องทะเลตรังตามโปรแกรมของบริษัทฯ ที่จะพาลูกทัวร์จากในเมืองมาลงเรือที่ท่าปากเมงนี้ในตอนเช้า เป็นจุดเริ่มต้นของการท่องทะเลตรัง

ผมตั้งใจให้มาถึงชายหาดก่อนมืด ได้เห็นทะเล และเดินเล่นชายหาดตามโปรแกรมที่วางไว้ แต่วันนี้คงเป็นไปไม่ได้ กว่าจะมาถึงที่พักคงมืดพอดี

ขับ รถออกจากตัวจังหวัดไปยังหาดปากเมงตามที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกทางไว้ ดูนาฬิกาในรถแล้วเป็นเวลาหกโมงเย็นเศษๆ ตามถนนและร้านค้าเริ่มเปิดไฟกันบ้างแล้ว ไม่นานก็ออกพ้นจากตัวเมือง ไปตามถนนสายที่พึ่งซ่อมสร้างเสร็จหมาดๆ ยังไม่มีเส้นแบ่งถนนและสัญญาณไฟทางตามจุดทางแยก จึงต้องขับรถด้วยระมัดระวังโดยเฉพาะคนเดินข้ามถนนไปมาในเขตชุมชน ช่วงโพล้เพล้แบบนี้อันตรายนักเชียว อุบัติเหตุหลายราย เจอในช่วงเวลานี้กันบ่อย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่รถต้องใช้ความเร็ว ลักษณะกึ่งมืดกึ่งสว่างแบบนี้นักขับรถรุ่นก่อนๆเตือนกันมานักต่อนักแล้วว่า ให้ระวัง มันเป็นช่วงที่เห็นวัตถุข้างหน้าไม่ค่อยชัดเจน บางครั้งเหมือนภาพลวงตา การเปิดไฟหรี่จึงจำเป็นมากในการขับรถนอกเมือง

พ้นจากเขตชุมชนไปไม่นานนักก็เข้าเขตป่าสวนยางพาราที่สูงใหญ่ และขึ้นหนาทึบทั้งสองข้างทาง

สภาพ อากาศเริ่มมืดจนต้องเปิดไฟใหญ่ ยิ่งสองข้างทางมีแต่สวนยางหนาแน่น ทำให้บรรยากาศทั่วไปดูจะมืดเร็วกว่าปกติ รถราที่วิ่งสวนไปมาเริ่มเบาบาง จนบางครั้งเหมือนกับว่ากำลังขับรถอยู่คนเดียวบนถนนสายนี้ สองข้างทางในย่านนี้แทบไม่มีบ้านคนให้เห็น มองไปทางไหนก็มีแต่สวนยางเป็นเงาทะมึนดำตลอดทาง ดูวังเวงพิกลๆ จนคนที่นั่งมาในรถนั่งเงียบไม่มีใครพูดจา และไม่มีใครหลับใครนอนกันอีกเลยเหมือนกับจะบอกว่า อยากให้พ้นๆแถวนี้และถึงที่พักกันซะที

จนกระทั่งขับมาถึงสามแยกใหญ่แห่งหนึ่งในท่ามกลางความมืดมิด ไร้บ้านคน มีแต่ป่าและสวนยางเต็มไปหมด
ข้างหน้ามีทางแยกตรงไปและแยกเบี่ยงไปทางซ้าย แต่ไม่มีป้ายบอกทาง ....?

“เอาละซิ ชักยุ่งละ แล้วจะไปทางไหนกันละ “ มืดแบบนี้มองไปทางไหนก็ไม่มีบ้านคนให้ถามไถ่ ผมลังเลใจจนต้องชะลอรถเพื่อตัดสินใจ ทั้งที่รู้ว่าการหยุดรถยามค่ำมืดในถิ่นที่ไม่คุ้นเคยแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ ควรกระทำ

บริเวณนี้เป็นลานกว้างจากการขยายถนน ยังไม่มีป้ายบอกทาง ไม่มีป้ายบอกหมายเลขทางหลวง ตรงไปก็ข้างหน้าก็เป็นถนนใหญ่
แยกออกไปทางซ้ายมือก็ถนนสายใหญ่เช่นกัน

“ทำไงดี” ผมนึกในใจ และตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกเส้นทางไหนดี เสียงบ่น เสียงตำหนิ รวมทั้งเสียงด่า พึมพำดังมาจากข้างหลังรถทำนองว่า ถนนสายหลักเพื่อไปแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ทำไมทางจังหวัด จึงไม่ใส่ใจ แล้วแบบนี้คนต่างถิ่นจะรู้ได้อย่างไรกัน

งี่เง่า...ผมสบถเบาๆด้วยความโมโห

ลังเลใจอยู่สักพัก จึงตัดสินใจขับตรงไปข้างหน้า เพราะคิดว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว เส้นทางที่ตรงไปมักเป็นส้นทางสายหลัก ส่วนถนนที่แยกออกไปมักเป็นถนนสายรอง

ครั้น ขับรถตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็ถึงทางโค้งบนเนิน มองเห็นแสงไฟอยู่ข้างหน้าทางฝั่งขวามือ นึกภาวนาขอให้เจอผู้คนหน่อยเถอะ จะได้ถามให้แน่ใจ จริงตามที่คิด มีชาวบ้าน 3- 4 คนนั่งคุยกันที่เพิงริมถนนซึ่งเป็นร้านเล็กๆมีไฟเปิดริบหรี่ๆอยู่ดวงเดียว จึงตัดสินใจขับรถ ตัดถนนข้ามไปฝั่งตรงข้ามเพื่อสอบถามเส้นทาง

”ทางข้างหน้านี้ไปปากเมงรึเปล่าครับ” ผมเปิดกระจกรถถาม

“ ปากเมงต้องเลี้ยวขวาข้างหน้าตรงทางแยกโน้นครับ.....”
ชายวัยกลางคนตอบผมด้วยสำเนียงทางใต้พลางชี้มือไปตามทางที่ผมพึ่งผ่านมา เมื่อตะกี้ ตรงสามแยกเจ้าปัญหานั่นเอง

“ แต่ถ้าตรงไปข้างหน้าตามเส้นนี้ก็ไปได้ จะมีป้ายบอกทางไปหาดปากเมง” ชายที่นั่งอยู่ด้วยกันพูดเสริม

“ แล้วไปทางไหนใกล้ที่สุดละครับ”

“ เลี้ยวขวาตรงทางแยกตอนขามาเมื่อตะกี้จะใกล้กว่า “

“ ขอบคุณครับ” ผมเลื่อนกระจกรถขึ้นแล้วขับรถย้อนกลับไปตามเส้นทางเดิม

นึก ในใจว่า มันไม่สนุกนักกับการที่ต้องมานั่งคลำผิดคลำถูกกับเส้นทางในยามค่ำคืนเช่นนี้ และจุดเล็กๆตรงนี้ก็ไม่มีในแผนที่เสียด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาสร้างทาง หรือเขตการทางของจังหวัด อาจไม่ใส่ใจนักกับสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นความเคยชิน เข้าใจว่าคนท้องถิ่นหรือคนเมือง ตรังรู้กันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดในทางตรงข้ามว่าเส้นทางท่องเที่ยวสายนี้จะมีผู้คนต่างถิ่นต้อง เดินทางมากันไม่น้อย ถ้ามีป้ายเขียนไว้เป็นการชั่วคราว ทุกอย่างก็คงจบ โดยไม่ต้องให้ใครมาสั่งสอน

ใน ที่สุดก็มาถึงหาดปากเมงราวๆเกือบทุ่ม แต่สภาพที่เห็นกับที่คิดไว้ในใจ มันแตกต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ที่นี่เป็นชุมชนเล็กๆ มีร้านค้าเพียงไม่กี่ร้าน ร้านอาหารแถวๆชายหาดมีไม่มากนัก ที่สำคัญไม่ค่อยเห็นผู้คนเลย “หาดปากเมง ที่เคยได้ยินชื่อมานานนั้นมีสภาพเงียบๆแบบนี้หรือ “ นึกไม่ถึงเลยจริงๆ ผมจอดรถเพราะไม่แน่ใจว่า “ปากเมงรีสอร์ต” จะห่างจากนี้ ไปไกลแค่ไหน เจ้าหน้าที่บริษัททัวร์ก็บอกตอนขามาว่าอยู่ใกล้ๆแถวนี้ แต่แถวนี้จะไปซ้ายหรือไปขวาละ เพราะข้างหน้านั้นเป็นทางแยกตัดกับถนนที่วิ่งเลียบชายหาด จึงคิดว่าสอบถามคนแถวนี้น่าจะดีที่สุด

“ตรงไปข้างหน้าอีกประมาณ 2 กม. ก็จะถึงแล้วครับ “ ชายคนหนึ่งที่ผ่านมาเป็นคนให้คำตอบ ผมมองไปข้างหน้าตามมือที่เค้าชี้ไปอย่างไม่ค่อยมั่นใจนักเพราะทางข้างหน้า นั้นดูมึดสนิท ท่าทางไม่น่าจะมีรีสอร์ตหรือมีบ้านคนแม้แต่หลังเดียว ผมขับรถตรงไปตามที่บอกอย่างช้าๆขณะเดียวกันก็หมายตาร้านอาหารสำหรับมื้อเย็น ไว้ด้วย เพราะเห็นมีป้ายซีฟู้ดกันหลายร้าน ซึ่งแต่ละร้านก็ดูเงียบๆไม่ค่อยมีลูกค้ามากนัก

หาดปากเมง เป็นเพียงหาดเล็กๆ ตั้งอยู่ในชุมชนที่ยังไม่เจริญนักเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มี ชื่อของจังหวัดอื่น ทีนี่ดูคล้ายกับจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้คนในจังหวัดตรังเท่านั้น ไม่มีโรงแรมที่พักใหญ่โตตามที่เข้าใจ พอค่ำมาทุกอย่างจึงดูเงียบเหงา จะมีนักท่องเที่ยวบ้างก็เพียงประปราย ยิ่งช่วงหัวค่ำวันนี้มีฝนตกหนักด้วย จึงเห็นผู้คนค่อนข้างบางตา

ราวกิโลกว่าๆก็ถึงรีสอร์ตที่พัก มีป้ายบอกตัวเบ่อเร่อ “ปากเมงรีสอร์ต” เลี้ยวเข้าไปจอดข้างสำนักงานซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง มองเข้าไปเห็นมีโต๊ะเก้าอี้วางเป็นชุดๆคงเป็นร้านอาหารไปในตัวด้วย พึ่งทุ่มกว่าๆที่มาถึง แต่มองไม่เห็นใครเลย เค้าท์เตอร์รับแขก และตามโต๊ะอาหารก็ไร้ผู้คน ดูเงียบๆแปลกๆ รอบอาคารสำนักงานมีต้นไม้ใหญ่ปลูกไว้จนดูมืดครึ้ม ตามใบไม้ดูชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝนที่ตกตอนหัวค่ำ ด้านข้างและด้านหลังสำนักงาน มีบังกะโลหลังใหญ่หลังเล็กพอจะมองเห็นลางๆอยู่หลายหลัง บริเวณลานจอดรถข้างสำนักงานมีรถจอดตะคุ่มๆ อยู่ 2–3 คัน

ผู้ ร่วมเดินทางมากับผมยังนั่งอยู่ในรถ ไม่มีใครยอมลง บอกให้ผมติดต่อให้แน่นอนเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งคงคิดว่ามีความไม่แน่ใจบางอย่างอยู่บ้าง เพราะสภาพที่เห็น ผิดแผกแตกต่างจากที่เคยไปเที่ยวในที่อื่นๆ จึงทำให้รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจนัก

“ พึ่งมาถึงหรือคะ ”
ผมหันไปตามเสียงทักของหญิงวัยราวๆเกือบหกสิบ ดูท่าทางแล้วน่าจะเป็นเจ้าของที่นี่ ในขณะที่ผมยืนเก้ๆกังๆอยู่ที่ระเบียงสำนักงาน

“ครับพึ่งมาถึง รถเสียเวลามากเพราะเจอฝนมาตลอด ถนนก็กำลังสร้าง……. ” ผมตอบ พร้อมกับแจ้งว่าได้จองไว้ผ่านทางบริษัททัวร์แล้ว

“ ก่อนที่คุณจะมาถึง ทางบริษัท (ตรังทราเวิล) ได้โทรมาบอกแล้วว่า คุณกำลังเดินทางมา เดี๋ยวจะให้คนพาไปที่ห้องพักเลยนะคะ”

“เสร็จแล้วก็มาทานอาหารเย็นได้ที่นี่ ซึ่งมีทุกอย่าง.....” เจ้าของสงสัยกลัวว่าเราจะกังวลเรื่องอาหารเย็นเลยบอกไว้ก่อนให้อุ่นใจ

ผม ขับรถไปตามทางแคบๆของรีสอร์ต ตามเจ้าหน้าที่ซึ่งถือไฟฉายส่องทางนำหน้าไป ห้องพักที่จองไว้เป็นลักษณะเรือนแถวกึ่งตึกกึ่งไม้ แบ่งเป็นห้องๆ ได้ประมาณ 4-5 ห้อง แต่มีไฟเปิดอยู่ห้องหนึ่ง ผมได้ห้องตรงกลางติดกับห้องที่เปิดไฟสว่าง ภายในห้องดูกว้างขวางสภาพทั่วๆไปถือว่าใช้ได้เมื่อเทียบกับราคาที่ไม่แพงนัก
หลังจากที่จัดการเรื่องสัมภาระเสร็จก็ตกลงว่า ไปทานอาหารกันก่อนแล้วค่อยมาอาบน้ำอาบท่ากันภายหลัง

ที่ ร้านอาหาร มีลูกค้าเพียงโต๊ะเดียวในเวลานั้น ก็คือคณะของผมนี่เอง ทานข้าวไปก็ได้คุยกับเจ้าของรีสอร์ตนั้นไปด้วย เจ้าของเล่าให้ฟังว่า"ปากเมงรีสอร์ต" เป็นรีสอร์ตแห่งแรกของหาดนี้ ใกล้ๆกันนี้มีอีก 3-4 แห่งไปทางหาดเจ้าไหม แต่ที่นี่จะใหญ่กว่า ร้านอาหารนี้จะมีบรรดา ส.ส. และนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาทานเป็นประจำ โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย (ชาวจังหวัดตรัง) เคยมาหลายครั้ง มีแกงส้มเป็นอาหารโปรด ที่ปรุงด้วยยอดอ่อนของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ ข้างๆร้านนี้เอง ดูแล้วคล้ายยอดมะม่วงที่กำลังแตกใบอ่อนเต็มต้น

คืน นั้นผมนอนฟังเสียง กบ เขียด อึ่งอ่างรวมทั้งจิ้งหรีด ประสานเสียงกันระงมไปหมด ทำให้รู้สึกว่าได้สัมผัสกับธรรมชาติ จากที่ไม่ค่อยได้พบสภาพเช่นนี้มานานทีเดียว ช่วงกลางดึกก็ได้ยินเสียงรถและเสียงผู้คนมาเข้าพักกันหลายชุด ทยอยเข้ามาเป็นระยะๆตามที่เจ้าของรีสอร์ตได้บอกไว้ว่า ลูกค้าที่นี่มาจากที่ไกลๆ ถึงที่พักก็เป็นเวลาดึกดื่น

มา รู้สึกตัวอีกทีในตอนเช้า เมื่อได้ยินเสียงเรือหางยาววิ่งผ่านด้านหลังรีสอร์ตอยู่หลายครั้ง นึกในใจว่าแถวนี้น่าจะมีแม่น้ำลำคลองอยู่ใกล้ๆ ผมตื่นมาราวๆหกโมงเช้าออกมานั่งเก้าอี้สูดอากาศอันสดชื่นที่ระเบียงหน้าห้อง มองดูสวนดอกไม้เล็กๆที่ไม่ได้ตกแต่งให้ดูสวยหรูนัก แต่ก็ได้บรรยากาศดี มีดอกชบาสีขาวกำลังออกดอกบานสะพรั่งตรงหน้าห้องที่พักพอดี ผมปล่อยให้ครอบครัวนอนหลับให้เต็มที่โดยยังไม่ปลุกผู้ใด เหลียวมองไปทางระเบียงห้องข้างๆ เห็นมีผ้าเช็ดตัวแขวนตากอยู่จึงรู้ว่าห้องว่างๆที่ปิดไฟมืดเมื่อคืนนี้ ตอนนี้มีคนมาพักเกือบหมดแล้ว

ผมนั่งซดกาแฟร้อนซึ่งเป็นกาแฟคั่วบดที่เตรียมมาเอง ปล่อยอารมณ์ในยามเช้าท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติอันสดชื่น มันทำให้กาแฟแก้วนั้นดูมีรสชาติไม่น้อย นี่แหละความสุขจากการท่องเที่ยวกับกาแฟที่โปรดปราน ดังนั้นทุกครั้งที่เดินทาง กาแฟบดพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ชง จึงต้องเตรียมไปด้วยทุกเมื่อ

“ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่อย่าลืมกาแฟกับกล้องถ่ายภาพ”

รีสอร์ตแห่งนี้ปลูกต้นไม้ไว้ค่อนข้างจะมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดับพื้นเมืองของทางใต้เห็นกันอยู่ทั่วไป มองไปทางไหนก็ดูสดชื่นไปหมด ความรู้สึกในเช้านี้แตกต่างกับเมื่อคืนนี้ที่ดูวังเวงอย่างสิ้นเชิง ผมเดินไปตามทางเดินเล็กๆผ่านห้องพักหลังเดี่ยวหลายหลังซึ่งอยู่โซนอื่น เห็นมี บางคนออกมาเดินชมวิวบริเวณหน้าห้องพักกันบ้างแล้วที่ลานจอดรถ มีรถราว 20 คัน มองป้ายทะเบียนแล้วเป็นรถมาจากกรุงเทพทั้งนั้น

เมื่อทุกคนเสร็จภารกิจตอนเช้ากันแล้ว ราว 7 โมงเศษๆก็ขับรถออกไปชมวิวทิวทัศน์กันข้างนอกตามเส้นทางไปหาดเจ้าไหม พบแหม่มสาว ชาวตะวันตกหน้าตาดี กำลังถ่ายภาพชายหาดหน้าที่รีสอร์ตอยู่คนเดียวอย่างมีความสุข เลยเปิดกระจกรถทักทาย say hello โบกมือตาม ธรรมเนียม แหม่มสาวก็ส่งยิ้มโบกมือทักทายเช่นกัน เธอมีผิวขาวไม่หยาบกร้าน ใบหน้ารูปไข่ ผมยาวสยายปรกบ่าและใส่เสื้อออกสีชมพู

โอ้...เป็นความทรงจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้

นี่ถ้าขับรถมาคนเดียวโดยไม่มีผู้บัญชาการมาด้วย สงสัยจะจอดรถถ่ายภาพกับแหม่มสาวคนนั้นแล้วก็เป็นได้ บรรยากาศแบบนี้รับรองได้ภาพดีๆ มาประดับอัลบั้ม.... เพียบ

ถนนสายปากเมง - หาดเจ้าไหมมีต้นสนขึ้นตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น บางช่วงเป็นสนต้นใหญ่อายุหลายสิบปี บางช่วงเป็นต้นเล็กๆที่ขึ้นเอง ตามธรรมชาติ ตลอดเส้นทางที่ยาวไกลหลายกิโลเมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นสนชนิดที่แทบไม่เห็นช่องว่างเลย ยิ่งถ้าออกไปยืนตามชายหาด แล้วจะเห็นทิวสนขึ้นเป็นแถวเป็นแนวไปอีกไกลหลายสิบกิโลจนสุดลูกหูลูกตา คล้ายกับว่าที่นี่เป็นป่าสนธรรมชาติอย่างแท้จริง

ห่างจากหาดปากเมงไปราว 5 กิโล จะเป็นชุมชนเล็กๆอาศัยอยู่ตามริมคลอง ประกอบอาชีพด้วยการดักจับปูม้า โดยใช้อวนตาข่ายสูงราว 1 เมตร ขึงขวางลำคลองเป็นช่วงๆ ขึงดักไว้ตอนเย็นๆ เช้ามาก็ไปกู้อวน ปูที่ว่ายไปตามกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง จะเกาะติดตาอวนข่ายว่ายไปไหนไม่ได้ดักไว้ทั้งคืนมีปูติดอวนมาไม่น้อยเลยทีเดียว

บริเวณแถวหาดปากเมงไปจนถึงลำคลองแถวๆนี้ เป็นแหล่งอาศัยของปูม้าเป็นจำนวนมาก และในเช้าวันนั้นได้พบเห็นสิ่งที่น่าแปลกประหลาดริมหาดปากเมงตรงสันเขื่อน ใกล้ที่พัก จนอดที่จะกล่าวถึงไม่ได้ก็คือว่า พบกองทัพลูกปูตัวเล็กๆสีออกขาวขุ่นนับหมื่นๆตัว เดินเป็นแถวเป็นแนว ลักษณะเดียวกับฝูงมดผ่านตามไปซอกหิน เป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นฝูงปูที่มากมายเช่นนี้มาก่อน

ใกล้กันนั้นมีหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งเรียกว่า “บ้านฉาง” เป็นหมู่บ้านอยู่ติดทะเล ชาวบ้านบอกว่าพื้นเพแท้จริงแล้วไม่ใช่คนที่นี่ แต่เป็นคนใต้ที่มาจาก จังหวัดอื่นและนับถือศาสนาอิสลาม มาตั้งรกรากทำอาชีพประมง หาปลาจากทะเลตรังที่ไม่ไกลนัก บ้างก็หาปูตามลำน้ำแถวนั้น ได้มาก็จะเอามาขาย ที่หมู่บ้าน ตอนเช้าๆจะมีพ่อค้ามาตระเวณรับซื้อ

ผมแวะเข้าไปถ่ายภาพและพูดคุยสอบถามชาวบ้านแถวนี้ไม่นานนักก็ได้เวลาที่ต้องไปยังท่าเรือปากเมง ซึ่งอยู่ห่างบ้านฉางไปอีกประมาณ 6 - 7 กม. ตามเวลาที่นัดหมายไว้

ท่า เรือปากเมงเป็นท่าเรือขนาดเล็กเพื่อการท่องเที่ยวทะเลตรังโดยเฉพาะ แตกต่างจากท่าเทียบเรือในจังหวัดอื่นที่มักจะใช้ท่าเทียบเรือประมงเป็นท่า เรือเพื่อการท่องเที่ยวไปในตัว จึงทำให้มีกิจกรรมต่างๆบริเวณท่าเรือเกิดขึ้นมากมาย ท่าเรือบางแห่งที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ดีพอ ก็จะทำให้เกิดความสกปรกและกลิ่นเน่าเสียตามมา แต่ท่าเรือปากเมงแห่งนี้แตกต่างจากท่าเรือที่กล่าวมาแล้วโดยสิ้นเชิง ภูมิทัศน์ที่นี่จึงดูเรียบร้อย สวยงามปราศจากกลิ่นเน่าเสียของซากสัตว์ทะเลต่างๆ

ทะเลสาบดอยเต่า

เรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวทะเลสาบเหนือเขื่อนภูมิพล ณ ดินแดนที่อยู่ไกลโพ้นของจังหวัดเชียงใหม่





“ดอยเต่า” ถ้า ย้อนอดีตไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน หลายคนคงรู้จักวงดนตรี “นกแล “ วงดนตรีของเด็กๆชาวเขาจากอำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ที่โชว์ความสามารถจนโด่งดังทั่วประเทศมาแล้ว ดอยเต่าในเวลานั้นยังเป็นชุมชนของชาวเขาอพยพที่อยู่ห่างไกลสังคมเมือง การคมนาคมยังไม่สะดวก จะเรียกว่าเป็นถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลระดับต้นๆของจังหวัดเชียงใหม่ก็คงไม่ ผิดนัก

เมื่อราว 35 ปีก่อน หรือประมาณ พ.ศ. 2507 ปีที่สร้างเขื่อนภูมิพล ดอยเต่า
ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อน หรือถ้าเป็นถนนก็ต้องบอกว่า ดอยเต่าเป็นหลัก
กิโลเมตรหลักแรกของทะเลสาบเหนือเขื่อน และเป็นต้นน้ำของลำน้ำปิง โดยมี
หลักสุดท้ายอยู่ปลายสุดที่จังหวัดตาก

ชาวเขาซึ่งอาศัยอยู่ในที่ลุ่มของอ่างเก็บน้ำได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่
บนที่สูงเหนือเขื่อน ตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2510 ซึ่งขณะนั้นมี
อาชีพปลูกพืชผักสวนครัวตามเชิงเขาริมน้ำ

ต่อมาในระยะหลังๆราวปี 2542 เป็นต้นมา มีฝนตกชุกตามปรากฏการณ์ที่
เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้น้ำในอ่างมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมบริเวณแปลง

เพาะปลูก การจับปลาในทะเลสาบจึงกลายเป็นอาชีพหลัก โดยมีร้านอาหารบนแพ และแพที่พัก เป็นธุรกิจ
ี่ที่ติดตามมาพร้อมๆกับการท่องเที่ยว

31 ธันวาคม 2543 เป็นวันที่ผมและญาติๆเดินทางมาเที่ยวดอยเต่า เหตุที่เลือกมาที่นี่ก็เพราะก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสลิ้มรส
ปลากรอบ ที่พี่สาวซื้อมาฝากจากเชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นยังแปลกใจเหมือนกันว่าทางภาคเหนือมีปลากรอบขายเป็นล่ำเป็นสัน เหมือนกับจังหวัดอื่น เช่นที่สิงห์บุรีด้วยหรือ

และหลังจากทานจนติดใจแล้ว ปลากรอบและดอยเต่า จึงเป็นเรื่องราวของบทสนทนาในคืนวันนั้น

”พี่ไม่ได้ไปมาหลายปีแล้ว ครั้งแรกที่ไปถนนหนทางยังไม่ดี นั่งรถไปก็กินฝุ่นไปตลอดทาง อำเภอดอยเต่าอยู่ไกลมาก และใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะถึง ”

”แต่เดี๋ยวนี้ได้ยินว่า เป็นถนนลาดยางตลอดและเชื่อมต่อไปจนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และมีทางแยกออกไปทางอำเภอลี้
จังหวัด ลำพูนได้”

ผมได้ยินคำว่าอำเภอลี้ในจังหวัดลำพูน มานานหลายปีทีเดียว รู้มาแต่เด็กแล้วว่าเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกล เหมือนเป็นดินแดนที่อยู่ลี้ลับ ต้องข้ามภูเขากันหลายลูกและทุลักทุเลพอสมควรกว่าจะไปถึง แต่เดี๋ยวนี้ได้ตัดถนนใหม่ ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น และไม่นานมานี้ ก็ได้ยินจากพรรคพวกที่เคยผ่านไปเส้นนี้เล่าให้ฟังว่า ถ้าอยากเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของถนนสายเก่านี้ ก็ต้องขับรถจากเชียงใหม่ มาตามถนนสายจอมทอง ผ่านลี้ แล้วเข้าอำเภอเถินของจังหวัดลำปาง จากนั้นก็เข้าถนนสายเอเชียมุ่งลงใต้มายังกรุงเทพได้

”แล้วบรรยากาศแถวๆนั้นเป็นยังไงบ้าง” ผมถามต่อเพื่ออยากรู้ เผื่อจะได้ไปเที่ยวในช่วงปีใหม่
ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหน

”พี่ไม่ได้ไปนานแล้วนะ แต่คนรู้จักที่เอาปลากรอบมาให้ เค้าบอกว่า แถวบริเวณนั้นเป็นแพริมน้ำเหมือนชนบท มีแพร้านอาหาร มีร้าน
ขายปลาแห้ง และปลาสดเป็นๆจากเขื่อน ร้านอาหารบนแพก็มีหลายร้าน ส่วนใหญ่ก็เป็นเมนูอาหารปลาจากทะเลสาบ และเดี๋ยวนี้มี แพที่พักให้นอนค้างกลางทะเลสาบได้ด้วย "

”น่าสนใจไม่น้อยกับการนอนแพ ในช่วงฤดูหนาวสิ้นปีนี้ “
ผมนึกมโนภาพไปว่า ที่ดอยเต่าอากาศคงหนาวเย็นเพราะอยู่บนดอย และตอนเช้าๆ
คงมีหมอกปกคลุมผิวน้ำจนขาวโพลน

จากนั้นจึงได้วางแผนและตกลงกับพี่สาวว่าจะมาเที่ยวดอยเต่ากันในวันสิ้นปี 2543
โดยจะขับรถจากกรุงเทพ แวะเชียงใหม่ 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงค่อยมาดอยเต่า โดยให้
คนที่นั่นเป็นผู้ติดต่อจองแพให้ เพื่อความมั่นใจว่ามีที่พักแน่นอนในคืนวันสุดท้ายของปี

จากเชียงใหม่ใช้ระยะทางประมาณ 125 กม. ก็ถึงดอยเต่า แต่ต้องใช้เวลาเดินทาง
ค่อนข้างนาน เพราะรถติดในแถบชานเมืองที่มีหมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นมากมาย ต่างกับ
เมื่อ 4 ปีก่อนที่ยังมีสภาพเป็นสวนและยังคงสภาพแบบเดิมๆ

มาวันนี้แทบจำอดีตไม่ได้เลย ถนนสายเล็กๆ มีรถราไม่มากนัก ก็สร้างกันใหญ่โตไปจนถึงอำเภอจอมทอง เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่มุ่งสู่ดอยอินทนนท์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี

ราวเที่ยงวัน ผมก็ขับรถมาถึงดอยเต่า แต่กว่าจะมาถึงได้ก็ต้องลงรถไปสอบถามชาวบ้านอยู่หลายครั้ง

ดอยเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแต่ไม่มีป้ายบอกทางให้ชัดเจน ปัญหาแบบนี้พบเห็นเป็นประจำเมื่อออกเที่ยวในต่างจังหวัด ทำให้รู้สึกว่าในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละที่นั้น ยังต้องปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานกันอีกมาก หลายครั้งที่ขับรถไปตามป้ายบอกทางสู่สถานที่สำคัญแต่พอเลยลึกเข้าไป ป้ายก็หายไปซะดื้อๆ ปล่อยให้นักท่องเที่ยวต้องเดาสุ่มกันเอาเอง เป็นเรื่องน่าเบื่อและน่ารำคาญมาก

เมื่อขับรถพ้นชุมชนที่เป็นอำเภอเล็กๆ จากนั้นก็เป็นถนนขึ้นเนินเขา และไม่ไกลนักก็ถึงทะเลสาบดอยเต่า

”ไม่น่าเชื่อว่าดินแดนที่เป็นป่าเขาบนที่สูง จะมีทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่โต มันผิดคาดเอามากๆเลยทีเดียว “
ผมรู้สึกแปลกใจกับทะเลสาบที่มีภูเขาโอบล้อมอยู่เบื้องหน้า ดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับมาเที่ยวทะเลที่เห็นท้องน้ำเป็นสีครามเข้ม
จะต่างกันตรงที่ไม่มีชายหาดสีขาวและไม่มีคลื่นลมเท่านั้นเอง

แพไม้ไผ่จอดเรียงรายอยู่ริมน้ำ เป็นภาพที่น่าตื่นตาไม่น้อย คล้ายกับหมู่บ้านเรือนแพแบบดั่งเดิม ทั้งแพและเรือหางยาวจอดเรียงต่อ
เนื่องกันอยู่ริมตลิ่งที่มองเห็นน้ำใสสะอาดอยู่เบื้องล่าง แต่อนาคตยังจะเห็นเป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องที่ยากจะเดา

” ที่ใดมีนักท่องเที่ยวที่นั้นย่อมมีสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม “
ประโยคนี้ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมสำหรับบ้านเรา ที่ต่างคนต่างรุมทึ้ง หาประโยชน์จากสถานที่ท่องเที่ยวจนย่อยยับมานักต่อนักแล้ว
โดยเฉพาะเจ้าของสถานที่ ที่มักเอาอกเอาใจนักท่องเที่ยว สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อหวังผลทางการค้า แต่ทำไปทำมากลายเป็นทำร้ายตัวเอง และทำลายสภาพธรรมชาติแบบเดิมๆ อันเป็นเสน่ห์ของสถานที่นั้นๆ

ทางเดียวที่จะหยุดยั้งได้ก็คือจิตสำนึกและความเข้าใจในการอนุรักษ์ที่แท้จริง

ผมถือโอกาสออกไปเดินหามุมถ่ายภาพ ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนเอาเรื่องในตอน
เที่ยงๆแบบนี่ ขณะที่พี่สาวกำลังรอคอยคนดอยเต่าที่ติดต่อเรื่องแพ

เดินเก็บภาพไปได้หลายภาพในสภาพแสงที่ต้องใช้ ฟิลเตอร์ Polarizing (PL)
กันตลอด เพื่อให้ภาพใส มีน้ำหนักมีสีสันมากขึ้น เมฆขาวที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า
จึงเห็นชัดเจนขึ้นตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม หลังจากใช้ PL

มื้อเที่ยงพวกเราก็ฝากท้องไว้กับร้านอาหารที่นี่ แต่กว่าจะยกมาเสิร์ฟได้ต้อง
บอกว่า “โคตรช้าเอามากๆ”



”ยำปลากรอบ” จานแรกที่สั่ง เป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดราว 4 นิ้ว ทอดกรอบแล้วนำมาคลุกกับเครื่องปรุง ซึ่งได้แก่หอมใหญ่ มะม่วงซอย ใบคื่นฉ่าย มะเขือเทศ กับพริกขี้หนูตำ ปรุงออก 3 รส เปรี้ยว หวาน เค็ม กำลังกลมกล่อมพอดี แต่วางให้เห็นหน้าตาได้ไม่นานก็เหลือแต่จานว่างเปล่า สิ่งที่ตั้งใจจะมาทานปลาให้อร่อย ก็เป็นอันว่าลงท้องไปเรียบร้อยสมใจอยาก จานนี้ถ้าจะให้คะแนนก็เอาไปเลย 5 ดาว

จาก นั้นอาหารประเภทปลาต่างๆ ก็ทยอยกันมา ปลาเนื้ออ่อนตัวใหญ่ทอดกระเทียม ต้มยำปลาหม้อไฟ ฉู่ฉี่ปลา ในที่สุดปลานานาชนิดจากทะเลสาบ ก็ลงไปอยู่ในท้องกันทุกคนด้วยความหิว ทั้งๆที่เมื่อเช้านี้ก็ล่อข้าวเหนียวกับอาหารพื้นเมืองเหนือกันมาเต็มท้อง

เรานั่งคอยแพที่จองไว้กันอยู่พักใหญ่ และนานจนผิดสังเกต กระทั่งเจ้าของแพมาบอกว่า

“พี่ๆ….เดี๋ยวรอให้เค้าเสร็จก่อน ผมจะเคลียร์แพให้ ลำที่อยู่ข้างๆนี้แหละ”

ผมคะเนดูแล้วคงอีกนานแน่ เพราะลูกค้านักท่องเที่ยวยังนั่งดวดเหล้าอยู่บนแพ โดยไม่มีทีท่าว่าจะจบง่าย เนื้อย่างเกาหลียังเห็นอยู่เต็มเตา ส่งทั้งกลิ่นทั้งควันโชยไปไกล

ผมเดินออกไปหาซื้ออาหารเพื่อเตรียมสำหรับมื้อเย็นและมื้อเช้า ซึ่งยังพอมีเวลาหาซื้อได้บ้าง ได้ปลากรอบมาถุงใหญ่ในราคาที่ถูกมากๆ และได้ปลาสดตัวใหญ่หนักราวกิโลเศษๆมาตัวหนึ่ง ลักษณะออกสีดำ คนขายบอกว่าเหมาะสำหรับทำต้มยำ แต่ถ้าจะเผากินก็อร่อย

“ตอนนี้ขึ้นแพได้เลยครับ เคลียร์แพเรียบร้อยแล้ว เดี๋ยวจะออกเลย”
เจ้าของแพเห็นผมหายไปนานเลยเที่ยวตามหา

“ ตอนเย็นๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องอาหาร เรามีเรือบริการรับส่งฟรีๆ ขาดเหลืออะไรก็บอกได้ “
็คงเห็นผมหิ้วโน่นหิ้วนี่มาพะรุงพะรังมามาก

ก็ คิดว่าเข้าท่าดี ที่มีบริการส่งอาหารจนถึงแพในราคาเดียวกับเมนู เป็นอันว่าของที่จะซื้อเพิ่มเติมก็ต้องเบรคไว้ก่อน ก่อนออกเรือก็ซื้อน้ำขวดมาแพคใหญ่ และได้น้ำแข็งเต็มกล่องโฟมใบเล็กๆที่เตรียมมาด้วย

“เตาปิ้ง เตาย่างและถ้วยโถโอชามละ มีรึเปล่า “
ผมไม่ค่อยแน่ใจเลยต้องถามเจ้าของแพกันก่อน ซึ่งความจริงผมก็เตรียมมาบ้างแล้วในบางส่วน
“ตอนเย็นๆจะมีเรือไปบริการส่งให้ถึงแพเลยครับ เครื่องครัวเรามีให้ทุกอย่าง ที่ปิ้งที่ย่างพร้อมเตาแก็ส...” เจ้าของแพสำทับให้มั่นใจขึ้น

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็ออกเรือได้

คนขับเรือหางยาวเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กอายุไม่เกิน 14 ปี ถ้าเรียนหนังสือก็คงราวๆชั้น ม.2 แม้จะดูเป็นเด็กแต่ก็เก่งเกินตัว
ทะมัดทะแมงพอไว้เนื้อเชื่อใจได้เลยทีเดียว ยังนึกในใจว่าเป็นคนไทยหรือเป็นชาวเขากันแน่เพราะพูดไทยชัดถ้อยชัดคำ แต่ยังไงก็คงหนีไม่พ้นลูกหลานดอยเต่าแถวนี้แหละ

แพ ได้เคลื่อนตัวช้าๆตามเรือหางยาวที่โยงเชือกลากจูงพาออกสู่กลางทะเลสาบ ภาพหมู่แพที่แออัดกันริมตลิ่งเมื่อกี้นี้ก็ค่อยๆทิ้งห่างออกไปทุกขณะ เสียงเพลงจากร้านอาหารบางร้านที่เปิดดังลั่น ก็ค่อยๆแผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนแพของเรามาอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลสาบ มองไปรอบตัวก็เห็นแต่ความเวิ้งว้าง

“เราจะอยู่กันกลางน้ำตลอดทั้งคืนเลยนะนี่”
เป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะดูแปลกไม่น้อยกับสภาพที่มีแต่น้ำรอบตัว และต้องอยู่กันข้ามวันข้ามคืน

ตอนนั้นราวบ่าย 3 โมงเย็น ทุกคนเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาพหลังจากที่นั่งคุยกันพักใหญ่ หาหนังสืออ่านฆ่าเวลาบ้าง เปิดวิทยุเทป
จากเครื่องเล็กๆแบบพกพาบ้าง ซึ่งตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้ไม่เงียบเหงาจนเกินไป

ผม นั่งเอกเขนกชมวิวอยู่นาน ก็เหลือบเห็นสายเบ็ดเก่าๆอยู่หัวแพ จึงนำมาแกะเพื่อใช้ประโยชน์ในยามว่าง และก็ได้ใช้จริงๆ มีปลาตัวเล็กๆติดเบ็ดมาบ้างพอให้ตื่นเต้นกันชั่วครั้งชั่วคราว ความจริงที่นี่ก็มีปลาเยอะและเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์ แต่พวกเราไม่ใช่นักตกปลาและไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เลย จึงไม่ได้นึกถึง หากคนที่ชอบตกปลามาเห็นสภาพนี้แล้วก็คงไม่ผิดหวังแน่ และคงได้ปลามาทำอาหารกันแบบสดๆ

ไม่นานพระอาทิตย์เริ่มทอดแสงลงมาจนส่องถึงกลางลำเรือ จึงต้องขยับตัวหลบหนีไปทางอื่น หลบไปหลบมาก็โดนแดดอีกจนได้
เพราะเรือมันหมุนไปตามแรงลมและกระแสน้ำ จนขยับเข้ามาใกล้แพที่อยู่ข้างเคียงซึ่งห่างกันไม่เกิน 70 เมตร และก็ต้องทนฟัง
เครื่องขยายเสียงที่เปิดดิ้นกันอย่างไม่เกรงใจใคร เลยอดไม่ได้ที่จะขอเอากล้องส่องทางไกลมาดูหน้าดูตากันหน่อย

“เวรกรรม” มีวัยขาโจ๋ ชักดิ้นชักงออยู่หน้าลำโพงตัวใหญ่ 3-4 คน ที่เหลือก็เห็นนั่งๆนอนๆและเป็นวัยกลางคนด้วยกันทั้งนั้น แถมมี
คุณยายนุ่งผ้าซิ่นสีเขียวนั่งปล่อยอารมณ์ที่ข้างแพอยู่ด้วย ก็แปลกดีที่ไม่เห็นมีผู้ใหญ่คนไหนรำคาญ สงสัยจะยอมให้ลูกๆหลานๆมา
ปล่อยผีปล่อยเปรตกันวันสิ้นปี มันก็เลยดิ้นกันมันส์หยด

“เออ…ขอให้แพมันแตกซะทีเถ๊อะ….จะสมน้ำหน้ามัน….” เป็นเสียงบ่นมาจากบนแพ ซึ่งคงแค้นเหลือทน

เหล้าบางๆ โดยไม่ต้องมีกับแกล้มอื่นให้ยุ่งยาก สร้างความเอร็ดอร่อยให้กับอารมณ์ในยามแดดร่มลมตกได้ดีทีเดียว

อาจเป็นความฝันของหลายๆคนที่อยากได้บรรยากาศดีๆ สงบๆ กับคนรู้ใจ ที่พากันมานั่งทอดอารมณ์ หาความสุขกันแบบสองต่อสองโดยปราศจากการรบกวนด้วยสายตาจากบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ ที่นี่บรรยากาศดี เงียบ สงบ และปลอดภัย (ขอบอก)

ตกเย็นพวกเราก็เริ่มเตรียมอาหาร เพราะดูทีท่าแล้วทางเจ้าของแพคงปล่อยเกาะ
เราแน่ จนป่านนี้ก็ไม่มีวีแววว่าจะมาสักที ไหนจะเรื่องอาหารและอุปกรณ์ทำกับ
ข้าวที่ยังขาดอยู่ และยังมีเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่ยังเปิดไฟไม่ได้ เพราะขาดแบต
เตอร์รี่ เวลานั้นจึงต้องอาศัยไฟฉายที่พกกันมาเองแก้ขัดไปพลางก่อน

พวกเราตกลงกันว่าคงต้องเตรียมอาหารกัน เพราะสถานการณ์เริ่มมีความไม่
แน่นอน จากนั้นก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ อันดับแรกคือปลาเผาต้องจัดการก่อน
เพราะตัวใหญ่มากและคงใช้เวลานาน



ปลากรอบก็นำมาอังไฟให้หอม แล้วแกะเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อเตรียมทำยำ ซึ่งยังติดใจไม่หายในมื้อกลางวัน ส่วนเครื่องปรุงก็เตรียมกันมา ไม่มีขาด ทั้งของสดของแห้ง ไม่ว่า มะนาว พริก หอม กระเทียม หรือซ้อสปรุงรสพวก ซีอิ้ว น้ำปลา และอื่นๆ ซื้อมาแบบขวดเล็กๆ จะได้ไม่หนักรถ

พวกเราสนุกกับการช่วยกันทำอาหารโดยไม่ต้องง้อเจ้าของแพ โชคดีที่มีเตาแก็สแบบใช้แก๊สกระป๋อง จึงสะดวกและวางใจได้เลยว่า
เพียงแค่กระป๋องเดียวก็สามารถทำอาหารได้หลายมื้อ ซึ่งพิสูจน์มาหลายครั้ง แล้วว่าเจ้าตัวเล็กนี้แหละไฟร้อนไฟแรงเหลือกินจริงๆ

โดยปกติการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะต้องช่วยตัวเองแบบนี้ ก็มักจะตระเตรียมสิ่งจำเป็นยัดลงกล่องไว้ท้ายรถ ไม่ว่าจะเป็นจาน
ช้อน ซ่อม มีด เขียงใบเล็ก ตะแกรงย่าง กรรไกรอเนกประสงค์ที่ทำได้สารพัดประโยชน์ ครั้งนี้ก็เหมือนกันได้เตรียมมาแบบฉบับย่อเป็นชุดเล็ก แต่ทุกอย่างถูกใช้อย่างคุ้มค่ากับการที่ต้องขนกันมา เป็นการท่องเที่ยวที่สนุกและออกรสชาติ บางครั้งก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นจานข้าวไม่พอ ก็ต้องนำกระดาษฟอยส์มาดัดแปลงทำเป็นรูปจานหรือถ้วย ซึ่งใช้ได้ดีไม่มีปัญหา และดีกว่าจานกระดาษหรือโฟม ด้วยซ้ำไปเพราะสามารถทานอาหารประเภทน้ำแกงได้และปลอดภัยกว่า

ขณะกำลังช่วยกันทำอาหาร ผมก็ต้องปลีกตัวไปถ่ายภาพต่อ เพื่อหาวิวสวยๆในยามเย็น จนดูแล้วว่าไม่มีอะไรน่าสนใจแล้วจึงเก็บ
กล้องและอุปกรณ์

ขณะกำลังสาละวนเก็บของอยู่นั้น ก็ต้องตะลึงกับภาพที่เห็นอยู่ข้างหลัง

ท้องฟ้า…โอ สวยจัง เหมือนปุยนุ่นเป็นหย่อมๆ มีแสงสีทองลอดผ่านกลุ่มเมฆเหล่านั้น มันแปลกและสวยมาก กลุ่มเมฆค่อยๆแยก
จากกันออกเป็นปุยเล็กๆจนเต็มท้องฟ้า สวยขึ้น สวยขึ้น ทุกขณะ

ผมรีบจัดแจงตั้งขาตั้งกล้องทันทีด้วยความดีใจและรีบเร่ง เพราะกลัวจะถ่ายไม่ทัน เพราะขณะนั้นแสงค่อนข้างน้อยจนต้องหันมาพึ่ง
ขาตั้งกล้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพ

ผมหยิบกล้องที่ถ่ายฟิล์มสี ISO 100 ใส่ขาตั้งก่อน เมื่อวัดแสงเฉลี่ยแล้วได้ 1/30 วิ. โดยเปิดหน้ากล้องกว้างสุด ถือว่าคาบเส้นพอดี

เอาละ...ยังไงต้องกดชัตเตอร์ภาพแรกให้ได้ก่อนในช่วงนาทีทอง จากนั้นกล้องสองตัว ฟิล์มสี และฟิล์มสไลด์ Velvia ISO 50
ก็ทำงานสลับไปมา โดยบางภาพได้สวมฟิลเตอร์ PL เข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้กับกลุ่มเมฆ

ครั้งนี้เป็นการถ่ายภาพที่ออกจะตื่นเต้น ดีใจ พอใจไม่น้อย เพราะแสงน้อยมากจนยากที่ถ่ายได้ในขณะที่อยู่บนแพ เพราะยังไม่นิ่งพอ
ภาพจากท้องฟ้าในเย็นวันนี้ ถือเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่อยากพบอยากเห็นมานานแล้ว ไม่ง่ายนักที่จะพบกับภาพสวยๆแบบนี้
ในขณะที่มีกล้องถ่ายภาพอยู่ในมือ

"ดอยเต่า" เพียงภาพชุดนี้ชุดเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการมาเยือนแล้ว



ผมเก็บกล้องและอุปกรณ์หลังจากที่ท้องฟ้าเริ่มจะมืดแล้ว บรรดาญาติๆต่างกำลังง่วนอยู่กับปลาเผาและตระเตรียมอาหารมื้อเย็น
โดยไม่มีใครสนใจภาพที่ปรากฏบนท้องฟ้า

ปลาสุกแล้ว กลิ่นหอมฉุยเลย ยังไงก็ต้องสุกแน่นอนเพราะพลิกไปมาอยู่หลายครั้ง น้ำจิ้มปลาก็ทำแบบง่ายๆ เอาพริก เอากระเทียม
มาซอยให้ย่อยแล้วบี้ๆกับช้อนพอแหลกในแก้วกาแฟ บีบมะนาว เติมน้ำปลา น้ำตาล อีกหน่อย ก็เป็นอันจบ งานนี้ผมขอปรุงเอง
เพราะค่อนข้างจะถนัดอยู่แล้ว ได้น้ำจิ้มมาค่อนแก้วกาแฟรับรองพอแน่ๆกับปลาตัวโตขนาดกิโลกว่า จากนั้นก็ทำพิธีเปิดบริสุทธิ์กับ
ปลาเผาที่นั่งลุ้นกันนานนับชั่วโมง และเป็นการแกะปลาออกจากกระดาษฟอยส์ที่ออกจะดูตื่นเต้นกว่าการกินปลาทุกครั้ง
ทุกคนต่างเฝ้ามองกับอาหารจานโปรดที่ถือเป็นพระเอกของมื้อนี้ ต่างหยิบช้อนซ่อมและเตรียมบรรเลงพร้อมกัน

โอ้โฮ…เนื้อเหลืองอ๋อยอล่องฉ่องและสุกทั่วทั้งตัว จากนั้นพวกเราก็ลงมือพร้อมกันอย่างเอร็ดอร่อย

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลิ้มรสปลาเผาตัวใหญ่จากทะเลสาบดอยเต่า เป็นปลาที่ไม่เคยทานมาก่อน เนื้อยุ่ย นุ่มๆ แต่ก็อร่อยมาก
ยิ่งมาได้กับน้ำจิ้มรสจัดจ้านที่ปรุงสุดฝีมือด้วยแล้ว เห็นที่คงไม่ต้องบรรยายกันมาก

นั่งทานกันไปคุยกันไปอยู่เพลินๆเจ้าเด็กดอยเต่าคนขับเรือ 2 คนเดิม ก็แล่นเรือมาเทียบข้างแพแบบเงียบ ท่ามกลางความมืด ยกลำโพง ตัวใหญ่ขึ้นมาจากเรือ พร้อมกับแบตเตอร์รี่ลูกใหญ่ที่ใช้กับพวกรถสิบล้อ เพื่อใช้เป็นไฟส่องสว่างกับหลอดนีออนที่มีอยู่ดวงเดียว และใช้เป็นพลังงานของชุดเครื่องเสียง จากนั้นก็ยกเครื่องครัวชุดใหญ่ตามมา และเป็นชุดใหญ่กันจริงๆ กะทะใบเบ่อเร่อ ตะหลิ๋วด้ามไม้ อันใหญ่ หม้อไห ถ้วยจาน ก็ใบใหญ่ชนิดที่ไม่ค่อยเห็นกันบ่อยนัก แต่ทั้งหมดก็ไม่มีความจำเป็นสำหรับมื้อนี้แล้ว

ก่อนจากไปก็ต้องโดนต่อว่าต่อขานกันหน่อยที่บริการไม่เอาไหน กว่าจะมาได้ก็ค่ำมืด สู้แพอื่นไม่ได้ที่มีเรือวิ่งบริการตลอดเวลา

คืนนั้นผมก็ตักน้ำอาบกันข้างแพนั้นแหละ แค่ขันแรกที่ตักรดตัวก็หนาวสั่นเอาเรื่อง น้ำไม่ได้เย็นมากหรอกแต่ลมนี่ซิ
พัดเย็นจนหนาวสะท้าน คนอื่นเห็นผมออกอาการจึงไม่มีใครยอมอาบ เลยถือโอกาสซักแห้งไปอีกวัน

ค่ำคืนนี้พวกเรานอนหลับกันอย่างมีความสุข ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย มีแสงจันทร์ส่องสะท้อนน้ำพลิ้วไหวเป็นประกายระยิบระยับ
หากจะเปรียบเทียบกับเมื่อ 2 คืนก่อนที่อยู่กรุงเทพมันคงแตกต่างอย่างสิ้นเชิง การปลีกตัวจากเมืองหลวงที่ดูสับสนมานอนดูพระจันทร์ อันสุกใสกลางทะเลสาบ ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปกับแสงระยิบระยับที่สบายตา เหมือนนั่งฟังดนตรีซิมโฟนี่วงใหญ่ ที่เห็นเครื่อง ดนตรีแต่ละชิ้นกำลังบรรเลงบทเพลงอันแสนไพเราะและลึกซึ้งกินใจ

ดูเป็นค่ำคืนที่ให้ความรู้สึกดีๆกับตัวเองไม่น้อย และใครก็ตามที่มีโอกาสพาตัวเองมาอยู่ในสถานที่เป็นธรรมชาติและดูสงบแบบนี้
ี้ ก็เชื่อว่า คงได้ซึมซับสิ่งดีๆกลับไป อย่างน้อยก็เป็นการผ่อนคลายจิตใจจากชีวิตประจำวัน ที่จะหาโอกาสเช่นนี้ได้ยากเต็มที

ผม ตื่นขึ้นมาอีกทีเมื่อได้ยินเสียงพลุและประทัดกลางดึก ก็เป็นการจุดเอาฤกษ์ต้อนรับปีใหม่จากแพลำอื่น ได้ยินเสียงวิทยุ จากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยที่พี่สาวเปิดเสียงเบาๆไว้ทั้งคืน ซึ่งกำลังถ่ายทอดสดจาดวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เสียงพระสวดสลับกับเสียงโฆษกที่นับ ถอยหลังบอกเวลาเป็นช่วงๆเมื่อใกล้จะถึงเวลาเที่ยงคืน จนกระทั่งเวลา 24.00 น.หรือเที่ยงคืนพอดี ก็มีเสียงเคาะระฆังวัดดังกังวาน พร้อมกับการอวยพรสวัสดีปีใหม่ 2544 จากโฆษกที่ได้ยินเสียงคุ้นหูเป็นประจำ จากนั้นก็ได้ยินเสียงจุดประทัด จุดพลุ จากแพบางลำใน ทะเลสาบ รวมทั้งได้ยินทั้งเสียงปืนและประทัดจากหมู่บ้านที่อยู่บนฝัง

“สวัสดีปีใหม่ทุกๆคนครับ" เสียงตะโกนจากแพที่อยู่ใกล้กัน ที่ผมด่าเช็ดไปเมื่อเย็นวานนี้ ตะโกนดังมาเป็นระยะๆ ตอนเช้ามืดราวตีห้า เดาเอาว่าคงไม่หลับไม่นอนกันทั้งคืน

วัดไหล่หิน

ดไหล่หิน (1)


หากใครไปเที่ยวภาคเหนือ และมีโอกาสพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ป่ออุ้ย แม่อุ้ย หรือมีโอกาสได้สนทนากับพระตามวัด ที่มีปูชนียสถานอันเก่าแก่ ก็อาจได้ยินการพูดถึงพระเจ้าเม็งราย พญาเม็งราย หรือ พระเจ้ามังรายพระองค์ต่างๆ ที่เป็นผู้สร้างวัดนั้นๆหรือสถานที่นั่นๆอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแท้จริงแล้ว ราชวงศ์เม็งรายถือเป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาที่มีกษัตริย์ปกครองมาถึง 17 พระองค์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

ราชวงศ์มังราย ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอาณาจักรล้านนา มีพระเจ้ามังรายพระองค์ต่างๆปกครองมานานถึงร้อย
กว่าปี (พ.ศ. 1938 – พ.ศ. 2101) และในราชวงศ์นี้ก็ได้ก่อให้เกิดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายหลายอย่างที่
ปรากฏบันทึกทางประวัติศาสตร์ของวัดสำคัญต่างๆหลายแห่งทางภาคเหนือ

สิ้น สุดของราชวงศ์เม็งรายก็ตอนที่ดินแดนล้านนา ซึ่งประกอบด้วยเมืองน้อยใหญ่ เช่นเขลางนคร(ลำปาง) หริภูญไชย(ลำพูน) และเมืองอื่นๆ ได้ตกเป็นเมืองขึ้นในสมัยของพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์ของพม่า มานานถึง 200 ปี และได้รับการกอบกู้ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกมหาราช โดยมีพระยากาวีละและพระยาจ่าบ้าน จากเมือง เชียงใหม่ช่วยกันขับไล่พม่าจนสำเร็จ และก็น่าเสียดายที่เรื่องราวเหล่านี้เด็กๆนักเรียนทางภาคเหนือไม่มีโอกาสรับ รู้เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิดของบรรพบุรุษของตนเอง เพราะไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร เหมือนกับว่าเกิดมาแล้วก็ไม่รู้จัก ปู่ย่า ตาทวด ของตนเอง ขาดการเชื่อมโยง ทำให้สังคมเราสนใจแต่ปัจจุบันกับอนาคต และหันหลังให้กับอดีตจนน่าเป็นห่วง ทั้งที่ประวัติศาสตร์นั้นจะช่วยให้เราก้าวสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและมีสติ ที่ผ่านมาเราจึงลืมกำพืด ลืมรากเหง้าดั่งเดิมที่ควรซึมซับและถ่ายทอดสู่รุ่นต่อๆมา จึงไม่แปลกใจอะไรที่ปูชนียสถานหลายแห่งถูกลบหลู่ และถูกทำลายไปไม่น้อย

ประวัติ ศาสตร์ล้านนาได้เขียนไว้หลายหน้า แต่ย่อสรุปมาให้เหลือไม่กี่บรรทัด เพื่อให้เห็นว่าในยุคที่ล้านนาอยู่ภายใต้การ ปกครองของพม่ามานานถึง 200 ปีนั้น น่าจะพูดได้ว่า นานจนคนสองทั้งประเทศนี้เกือบจะลืมความแตกต่างในความเป็น ประเทศซึ่งกันและกัน เหมือนกับว่าเมืองล้านนากับพม่านั้นเป็นประเทศเดียวกันด้วยซ้ำไป

ล้าน นาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามานานถึง 200 ปี คิดไปก็เหมือนกับว่านานทีเดียว แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วพม่าจะควบคุมเฉพาะเมืองหลวงหรือนครพิงค์เท่านั้น ส่วนเมืองที่เป็นฐานะเมืองบริวารของเชียงใหม่ ก็ยังดำเนินชีวิตไปตามปกติแทบไม่มีผลกระทบอะไรกับการปกครองของพม่า

สาย สัมพันธ์ของพม่ากับชาวล้านนา ดูเหมือนจะเป็นลักษณะประเทศเพื่อนบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีการไปมาหาสู่กัน ไม่มีคำว่าใครเป็นเมืองขึ้นของใคร ซึ่งดูเป็นเรื่องน่าแปลก

หรือ ว่าระยะเวลาถึง 200 ปีนั้น มันเนิ่นนานจนลืมความแตกต่างในเรื่องคำว่าประเทศ หรือว่าสมัยนั้นเมื่อใครตกเป็นเมืองขึ้นกับใครแล้วมันไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ถึงขั้นอาฆาต เป็นศัตรูกันเหมือนอย่างที่คนยุคนี้เข้าใจกัน หรืออาจเป็นเพราะประเทศทั้งสองนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน

จะ อะไรก็แล้วแต่ก็เป็นข้อสังเกตุที่ยังหาคำตอบให้กับตนเองไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีต่อกันนั้นสามารถมองผ่านจาก งานด้านศิลปวัตถุ หรือศิลปกรรมที่ปรากฏตามวัดสำคัญๆของภาคเหนือ ซึ่งเป็นศิลปะแบบผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและศิลปะแบบพม่า บางวัดในอดีตมีการนำช่างฝีมือจากพม่ามาร่วมสร้าง บางวัดก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากราชวงค์พม่า ซึ่งหากจะพูดว่าศิลปะล้านนานั้นได้รับอิทธิพลมาจากพม่าก็คงจะไม่ผิดนัก

เขียน มาถึงตรงนี้ก็อดที่จะนึกถึงน้ำพริกอ่องและขนมจีนน้ำเงี้ยวไม่ได้ว่า มีถิ่นกำเนิดมาจากพม่า ซึ่งปัจจุบันชาวพม่าจะปรุงอาหารด้วยมะเขือส้ม(มะเขือเทศลูกเล็ก)เป็นอาหาร หลัก นี่เป็นตัวอย่างที่มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างกัน

วัด ทางภาคเหนือที่มีเจดีย์ทรงพม่าอยู่หลายวัด ที่ลำปางมีบางวัดสร้างโบสถ์วิหารเป็นแบบพม่า มีพระพม่าเป็นเจ้าอาวาสซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากประเทศพม่าโดยตรง สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

พระ ทางภาคเหนือหลายวัด กับพระพม่าจากเมืองเชียงตุง ปัจจุบันยังมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น และหากจะย้อน ประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าดินแดนล้านนาในอดีตนั้นประกอบด้วยดินแดนของ 3 ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ดินแดนทางภาคเหนือของไทย เมืองเชียงตุงของประเทศพม่า และดินแดนสิบสองปันนา (ประเทศจีนตอนล่าง) ซึ่งปัจจุบันอยู่คนละประเทศแต่ในยุคอดีตนั้นถือเป็นประเทศเดียวกัน มีประเพณีและวัฒนธรรมที่ดูคล้ายกันและมีความสัมพันธ์ต่อกันมาช้านาน



รูปทรงคล้ายพระพม่า ลวดลายแบบจีน

วัดเก่าแก่ของภาคเหนือถ้าสังเกตุให้ดีก็จะเห็นงานศิลปกรรม ของชาติต่างๆแฝงอยู่ เช่นลวดลายศิลปะแบบพม่า ภาพเขียนแบบจีน สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความสัมพันธ์ของคนในยุคนั้นๆ และยิ่งมีโอกาสไปวัดที่มีตำนานทางประวัติศาสตร์มายาวนานก็จะพบเห็นอยู่มาก มาย แม้วัดที่สร้างใหม่ในปัจจุบันก็ยังมีการนำช่างฝีมือจากประเทศเหล่านี้มาสรร สร้างงานศิลปะชั้นยอดให้ปรากฏตามวัดใหม่ๆอยู่หลายแห่ง (จะมีภาพมาให้ดูในโอกาสต่อไป)

นัก ท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ไปเที่ยวตามวัดทางภาคเหนือ ส่วนมากที่ไปเที่ยวก็ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อวัดหรือสถานที่นั้นๆแต่ไม่มี โอกาสรับรู้สิ่งที่เป็นอดีตที่น่าสนใจ ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีใครมาอธิบายให้ฟัง และหนังสือประวัติของวัดก็น้อยคนนักที่จะ หาซื้อมาอ่าน รับรู้กันแต่เพียงว่าเป็นวัดที่มีอายุมานานหลายร้อยปี และหลายชั่วอายุคน ผิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มักมีคู่มือท่องเที่ยวและข้อมูลรายละเอียด ของสถานที่นั้นอย่างพร้อมมูล คือได้ท่องเที่ยวและได้ศึกษาหาความรู้ไปในตัว

การท่องเที่ยวให้เกิด ประโยชน์อย่างสมบูรณ์ก็ควรจะรู้เรื่องราว ที่มาที่ไปของสถานที่นั้นๆบ้าง เป็นความรู้ และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักความหวงแหน คงไม่ต้องถึงขนาดไปศึกษากันมากมายลึกซึ้งอะไรมากมายนัก ขอแต่เพียงรู้ เข้าใจสาระสำคัญในบางเรื่องของสถานที่นั้นๆก็น่าจะพอเพียงในฐานะนักท่อง เที่ยวคนหนึ่ง

สถานที่ท่อง เที่ยวตามวัดต่างๆทางภาคเหนือมีหลายแห่งที่น่าสนใจ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มานานหลายร้อยปี และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การเดินทางมาเที่ยวภาคเหนือเมื่อเดือน สิงหาคม 2547 จึงอยากจะหาวัดเก่าๆสักแห่ง เก็บสาระเรื่องราวที่น่าสนใจและเก็บภาพบรรยากาศของวัด มาถ่ายทอดผ่านทางเวปไซต์ และด้วยความรู้สึกอยากจะนำสิ่งดีๆที่ซ่อนแฝงอยู่ในหลืบในมุม ออกมาให้หลายๆคนได้รู้ได้เห็น ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าจะหาสถานที่ต้องการนี้ได้ที่ไหน เพราะวัดเก่าๆแก่ทางภาคเหนือก็มีมากมายหลายวัด

มี ญาติผมคนหนึ่งแนะนำว่า ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีวัดๆหนึ่งเก่าแก่มาก ดูแล้วก็น่าจะตรงกับสิ่งที่ผมต้องการและยังได้บอกว่า ลำปางมีอยู่ 3 วัดที่น่าสนใจ ได้แก่วัดปงยางคกอยู่ที่อำเภอห้างฉัตร อีก 2 วัด อยู่ที่อำเภอเกาะคา ได้แก่วัดจอมปิงและวัดไหล่หิน

ผม เลือกมาถ่ายภาพที่วัดไหล่หินก็เพราะเห็นว่าน่าจะมีความหมายทางด้านประวัติ ศาสตร์ ที่สมเด็จพระพี่นางฯเคยเสด็จมาเยือนพร้อมกับนายก ชวน หลีกภัย (สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งก็พึ่งผ่านมาไม่กี่ปีมานี้เอง

” วัดไหล่หิน ” เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อที่เป็นทางการว่า “ วัดเสลารัตนปัพพะตาราม ” หรือวัดไหล่หิน หลวงแก้วช้างยืน บางครั้งชาวบ้านรุ่นก่อนๆก็จะเรียกว่า วัดป่าหิน หรือวัดม่อนหินแก้ว

วัดไหล่หินสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 218

หากจะนับอายุประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็น่าจะถือว่าเกิดก่อนประเทศไทย และหากจะเปรียบเทียบยุคกรุงศรีอยุธยาที่ไทยเสียกรุงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2112 ก็ถือว่าเกิดก่อนยุคนั้นมานานทีเดียว หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับอาณาจักรล้านนา ในสมัยของพญามังรายที่ปกครองล้านนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1802 ก็ถือว่าเกิดก่อนยุคล้านนานับเป็นพันๆปี


เย็น วันที่ 14 สิงหาคม 2547 เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสมาเยือนวัดนี้เมื่อเลี้ยวรถเข้ามาจอดที่ลานวัด ก็เป็นเป้าสายตาของพระรูปหนึ่งที่นั่งอยู่บนศาลาหน้าวัดตรงบริเวณตู้รับ บริจาค และคงคิดว่ามาติดต่อกิจธุระกับทางวัดมากกว่าจะคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยว เพราะใกล้ค่ำแล้ว

หลวงพ่อ ที่ผมพบในวันนี้ก็คือ พระชัยพร อัตสาโร มีฐานะเป็นรองเจ้าอาวาสวัดไหล่หิน ทุกวันบริเวณศาลานี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของวัดและพระภายในวัดผลัดเปลี่ยนกันมา ต้อนรับนักท่องเที่ยวและรับบริจาค

สภาพ วัดโดยทั่วไปแล้วค่อนข้างเงียบ อาจเป็นเพราะเป็นวัดเล็กๆประจำตำบลบ้านไหล่หิน รอบๆหมู่บ้านก็ยังมีสภาพเป็นนาข้าวที่พึ่งจะผ่านการปักดำไปไม่นาน บางแปลงก็ยังเห็นข้าวกล้ากำลังงอกงามเขียวขจี

ผม ยกมือไหว้นมัสการหลวงพ่อ พร้อมกับเหลือบมองไปยังวัดเก่าแก่ที่อยู่ข้างหน้า มันเป็นอะไรที่ผมคาดไม่ถึงจริงๆว่าจะมีวัดเก่าที่ซ่อนตัวอยู่ในตำบลเล็กๆที่ ผมพึงขับรถผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง

” หลวงพ่อครับ วัดนี้เก่ามากเลยนะครับ แต่สภาพยังดีอยู่เลย ”

” วัดนี้มีอายุหลายร้อยปีแล้วละโยม และวัดนี้ก็เป็นวัดต้นแบบของวัดลำปางหลวงที่อยู่ใกล้ๆนี้เอง ”

” ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลย และคิดว่าหลายคนก็คงไม่ทราบเช่นกัน ว่าวัดลำปางหลวงจำลองมาจากวัดนี้ ”


ผมรู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่หลวงพ่อพูดถึงเพราะทราบมาว่า วัดลำปางหลวงก็เป็นวัดสำคัญของภาคเหนือ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปาง และโดยส่วนตัวก็คิดว่าเป็นวัดที่มีอายุนานที่สุดของจังหวัดลำปาง และยิ่งทราบว่าเป็นวัดผู้พี่ของวัดลำปางหลวงที่ถูกนำไปสร้างเป็นต้นแบบก็ ยิ่งอดทึ่งไม่ได้

ผมสอบถาม เรื่องจำนวนพระที่จำพรรษาในวัดนี้ ซึ่งหลวงพ่อบอกว่าวัดนี้มีพระเพียง 3 รูปเท่านั้นเอง และพรรษาที่ผ่านมาหลวงพ่อก็บอกว่าไม่มีพระบวชใหม่เลย

หลวง พ่อพาผมเดินเข้าไปชมภายในวัด หลังจากทราบวัตถุประสงค์ว่าจะนำภาพของวัดไหล่หินไปเผยแพร่ทางเวปไซต์ เพื่อให้ บุคคลทั่วไปได้รู้จัก ซึ่งอาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้หลายคนได้มาเยี่ยมเยือนกันมากขึ้น

หลวง พ่อชี้ให้ผมดูกระดานที่ติดโชว์ภาพถ่ายเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องสุ ริโยทัยที่ได้เลือกบริเวณหน้าซุ้มประตูโขง ของวัดไหล่หินเป็นฉากบางตอนของภาพยนต์

” วัดนี้มีคัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ และมีมากที่สุดของภาคเหนือ ”

หลวง พ่อได้ชี้มือให้ผมดูศาลาไม้ชั้นเดียวหลังเก่าหลังหนึ่งที่อยู่ทางปีกซ้ายของ วัด บอกว่าภายในจะมีตู้คัมภีร์ไว้เก็บรักษาใบลาน ที่เป็นคำสอนของภาษาพื้นเมืองเหนือ ปัจจุบันนี้ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้ว

เมื่อ ผมเดินผ่านซุ้มประตูวัด ซึ่งเป็นประตูเล็กๆ หลวงพ่อได้บอกว่า ” ซุ้มประตูนี้ก็เป็นต้นแบบของวัดลำปางหลวง แต่สร้างใหญ่กว่า และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่เห็นภายในวัดนี้ก็เป็นต้นแบบของวัดลำปางหลวงทั้ง นั้น เช่นวิหารไม้ที่เห็นนี้ และระเบียงรอบวิหารนี้ ที่วัดลำปางหลวงก็มีแบบนี้เหมือนกัน ”

” แต่ก่อนนี้ เมื่อจะผ่านซุ้มประตูนี้จะมีบันใดอยู่ 3 -4 ขั้น เพื่อเดินเข้าประตูในวิหารแต่เมื่อมีการถมดินด้านนอกจึงสร้างทางลาดปูนตรง
จากหน้าวัดมาถึงตรงนี้ทำให้มองไม่เห็นบันใดที่คนสมัยก่อนเคยใช้กัน ”

หลวงพ่อเล่าให้ฟังในทำนองที่เสียดายความเป็นของเก่าดั่งเดิม ที่พื้นที่ของวัดในส่วนนี้เคยอยู่สูงกว่าด้านนอกกำแพง

ภาย ในวัดมีระเบียงคดอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดทั่วไปที่เห็นพระพุทธรูปรายล้อม ทั้ง สี่ทิศ เป็นเหมือนกำแพงล้อมรอบวิหาร ต่ที่วัดนี้ไม่มีพระพุทธรูปรายล้อมริมระเบียง เหมือนเช่นวัดอื่น มีเพียงพื้นซีเมนต์โล่งๆ เช่นเดียวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง

วัด นี้ถึงแม้จะผ่านอดีตมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ก็น่าแปลกใจที่สภาพทั่วไปยังคงไว้ในสภาพดี เห็นริ้วเห็นเนื้อแท้ของ ความเก่าแก่ ที่ไม่มีการต่อเติมเสริมแต่งให้ผิดแผกไปจากอดีต

” ที่วัดนี้จะซ่อมอะไร จะทำอะไรก็ต้องปรึกษากับทางกรมศิลป์ เพราะได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว หลายอย่างที่ เมื่อก่อนทางวัดได้ทำไปโดยไม่ได้ปรึกษากับกรมศิลป์ เค้าก็แนะนำให้เอาออก บอกว่าควรรักษาสภาพเดิมไว้ ”

หลวงพ่อกล่าวถึงกรมศิลป์ที่ให้ความสำคัญกับวัดไหล่หินและบอกว่า ไม่กี่วันมานี้เจ้าหน้าที่จากกรมศิลป์ก็มากันหลายคน

ผมเดินสนทนากับหลวงพ่อได้ไม่นาน ท่านก็ขอตัวไปทำวัตรเย็นภายในวิหาร

เที่ยวเมืองน่าน

อ่วเมืองน่าน

“ ผมไม่เคยไปเมืองน่าน ”

ไม่ เคยไปจริงๆครับ ขับรถเฉียดไปเฉียดมาอยู่ 2-3 ครั้งแต่ก็ไม่เคยแวะเข้าเขตเมืองน่านกันสักที หลายครั้งที่อยากไปเห็นหน้าตาเมืองน่าน หรือเพียงแค่ขับผ่านตัวจังหวัดก็ยังดี แต่ก็อีกนั่นแหละมันหาเหตุเข้าเมืองน่านไม่ได้สักที เหมือนกับว่าดวงไม่ค่อยสมพงษ์กัน ครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปภาคเหนือโดยรถส่วนตัวในเทศกาลสงกรานต์เมื่อเดือน เมษายน 2548 ที่ผ่านมา จึงตั้งใจว่าตอนขากลับจะมานอนที่น่านสักคืนก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพ

มา เที่ยวเมืองน่านคราวนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจไปเที่ยวที่ไหน เพราะมีเวลาน้อย อยากมาชิมลางมากกว่า หลังจากสอบถามคร่าวๆจากญาติที่เคยมาเที่ยว ถึงเส้นทาง ที่พัก และสถานท่องเที่ยวในตัวเมือง จากนั้นก็ออกเดินทาง

เริ่ม ต้นที่ลำปาง(แวะถ่ายภาพสถานีรถไฟก่อน) จากนั้นเข้าเมืองแพร่ โดยแวะนมัสการวัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นวัดคู่เมืองแพร่ออกจากวัดก็เดินทางต่อมายัง จ.น่าน ตามทางหลวงหมายเลข 101 (วัดพระธาตุช่อแฮจะมีภาพสวยๆมาให้ชมในโอกาสต่อไป)





" เมืองน่าน"

เรื่องราวส่วนใหญ่ที่รู้ๆมาก็เป็นเรื่องที่จดจำมาแต่อดีต อาจนานมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในความทรงจำ เช่น น่าน เป็นจังหวัดเล็กๆ เป็นเมืองไม้สัก การเดินทางต้องข้ามเขาที่มีป่าไม้หนาแน่นตลอดสองข้างทาง มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศลาว ตามแนวชายแดนก็ประกอบไปด้วยชาวเขาหลายเผ่า ซึ่งอดีตก็เคยเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาล ที่ถูกชักนำให้หันมาฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ชายแดนน่านรวมทั้งพื้นที่บนเขา จึงกลายเป็นแดนก่อการร้าย มีการสู้รบรุนแรง และถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง

น่าน หากนับถอยหลังไปในช่วงระหว่างปี 2510 – 2524 จะมีแต่ข่าวการสู้รบกันเป็นประจำ จนดูเหมือนจะกลบภาพลักษณ์ที่ดีๆของเมืองน่านไปจนหมดสิ้น บางจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงเมืองน่านเช่นจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงราย ก็หวั่นวิตกว่าหากทหารปราบไม่อยู่ แน่นอนว่าเมืองแพร่และจังหวัดอื่นๆที่อยู่ถัดๆมาคงต้องรับศึกหนัก น่านจึงเหมือน เป็นเมืองหน้าด่าน ทำหน้าที่เป็นกำแพงไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายล่วงล้ำอธิปไตย ซึ่งขณะนั้นประเทศต่างที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น เวียดนาม พม่า ลาวกัมพูชา ก็กลายเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปหมดแล้ว

ใน ช่วงเวลาที่เนินนานถึง 14 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมือนเมืองน่านต้องถูกปิดประตูเมืองชั่วคราว ถนนหลายสายระหว่างอำเภอต่างๆในจังหวัดน่านไม่ค่อยปลอดภัยนัก หากไม่จำเป็นก็จะไม่มีใครกล้าผ่าน ไม่ต่างกับเส้นทางระหว่าง พิษณุโลก – เพชรบูรณ์หรือในพื้นที่ในเขต อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่บริเวณนั้นถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง มีการปะทะกันไม่เว้นแต่ละวัน ผู้สัญจรผ่านเส้นทางนั้นอาจโดนลูกหลงจากการต่อสู้ ในยามค่ำคืนแล้วก็จะกลายเป็นถนนร้างที่ไร้ยวดยาน

” ยุทธการทุ่งช้าง ”

เทือกเขาตามแนวชายแดนน่าน เป็นยุทธภูมิที่เหมาะสำหรับเป็นฐานตั้งมั่นด้านการรบ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามพยายามยึดชัยภูมิสำคัญให้ได้ มีการปะทะและนองเลือดกันทั้งสองฝ่าย จนมาถึงแผนการรบที่มีชื่อว่า “ ยุทธการทุ่งช้าง “ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นแผนการรบขั้นเด็ดขาด มีสมรภูมิรบอยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน และน่าจะเป็นการรบที่เอาชนะผู้ก่อการร้ายได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ในยุคที่มีพลเอกเปรม ติณสุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ตามนโยบายของรัฐบาลที่ 66/23 ที่มีการนำแผนนี้ไปใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศรวมทั้งที่สมรภูมิเขาค้อด้วย

ร้อย กว่านายที่ทหารไทยและพลเรือนได้เสียชีวิตในยุทธการทุ่งช้าง และจากเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2510 จนเสร็จสิ้นสงครามการสู้รบในปี 2524 ฝ่ายรัฐบาลโดยทหาร ตำรวจ และพลเรือน เสียชีวิตไปทั้งสิ้นถึง 628 นาย

อนุสรณ์ สถานของบรรดาผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อยู่ที่ อ.ทุ่งช้าง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน มีชื่อว่า "อนุสรณ์วีรกรรม" สร้างไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้คนรุ่นหลังได้ทราบความเป็นไปในช่วงเวลานั้น ที่ไทยต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายจากภายนอก และผู้ก่อการร้ายคนไทยที่ถูกชักจุงให้หลงผิด

ใน ที่สุดการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ประสบความล้มเหลว และปราชัยไปในที่สุด เป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่มีผู้คนล้มตายไปหลายสิบล้านคน เฉพาะที่ประเทศจีน กล่าวกันกว่าสูงถึง 40 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะความอดหยาก

จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นระบอบสังคมนิยม โดยมีนายพลเหม๋าเจ่อตุงเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของประเทศที่ปกครองในระบอบทุนนิยม

ทั้งหมด ที่เขียนเล่ามานี้ก็เพื่อให้หลายๆคนได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิด ขึ้นในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองน่านไม่เติบโตเท่าที่ควรเหมือนเช่น จังหวัดอื่นๆทางภาคเหนือ เพราะสิบกว่าปีที่น่านต้องตกอยู่ในภาวะสงครามสู้รบไม่มีใครอยากเข้าไปใน พื้นที่เสี่ยงอันตราย แม้ผู้คนเมืองน่านอาจเห็นว่าไม่มีอะไรรุนแรง แต่ข่าวการสู้รบที่มีอย่างต่อเนื่องจึงไม่อาจปฏิเสธได้ เช่นเดียวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน ที่คนท้องถิ่นเองบอกว่ามันรุนแรงเป็นบางจุด แต่เหตุการณ์ที่เป็นข่าวทำให้เข้าใจว่ามันกระจายไปทั่วทั้งพื้นที่ เหตุการณ์ภาคใต้ขณะนี้ น่าจะบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่า ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสกำลังจะกลายเป็นจังหวัดที่เติบโตช้ากว่าจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครกล้าไปลงทุนทำธุรกิจ ไม่มีใครกล้าไปเที่ยว และที่สำคัญกว่านั้นคนในพื้นที่เองต่างก็หาทางอพยพออกจากพื้นที่เพราะเกรง ว่าไม่ปลอดภัย

เมษายน 2548 ผมตั้งใจจะไปเที่ยวเมืองน่าน เพียง อยากไปเห็นว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้าง แม้จะได้ยินมาว่าไม่ต่างกับจังหวัดแพร่ที่มีเขตติดต่อกันเท่าใดนัก

เส้น ทางจากแพร่สู่น่าน เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านป่าเขา โดยเฉพาะป่าสักนั้นมีพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และพื้นที่ส่วนหนึ่งนั้นอาจต้องสูญไป อันเนื่องจากโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เราเคยได้ยินคุ้นหูกันมาเป็นเวลานาน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ ปี 2514 ยุคถนอมประภาส จนถึงวันนี้ ฝ่ายจะสร้างกับฝ่ายต่อต้านยังทะเลาะกันไม่จบ และยังสรุปไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไร หากมีการสร้างกันจริงก็ต้องถือว่าเป็นโปรเจค 7 ชั่วโคตร ที่เมืองไทยต้องจากจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ต่อจากการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินหนองงูเห่าเดิม

ผมขับรถถึงเมือง น่านราว 4 โมงเย็นของวันที่ 18 เมษายน 2548 หลังจากที่ผ่านป่าเขามาไกลพอสมควร เห็นป่าสักเต็มตาสองข้างทาง และเป็นเส้นทางที่สวยงามเส้นทางหนึ่งของภาคเหนือ ทางหลวงหมายเลข 101 ราบเรียบไม่มีร่องรอยปะผุให้น่ารำคาญทำให้การขับรถบนถนนสายนี้ค่อนข้าง ปลอดภัย ตลอดระยะทางมีรถใหม่ป้ายแดงวิ่งฉวัดเฉวียนไปบนเขาอย่างน่าเป็นห่วงว่าจะพลิก ตีลังกาลงข้างทาง โดยเฉพาะเก๋ง TOYOTA VIOS ต้องบอกว่าเป็นรถใหม่ยอดนิยมที่พบเห็นมากที่สุดบนถนนสายนี้

แนะนำตัว




วรศักดิ์ ศิริเดชาดิลก
รหัส 4924408101
วิชา เตรียมฝึกงาน M.5