วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553



การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดย นายแพทย์อวย เกตุสิงห์
การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราไม่ออกกำลังหรือออกกำลังไม่พอ ร่างกายก็ผิดปกติ หย่อนสมรรถภาพ บางครั้งถึงกับเป็นโรค ผู้ที่เป็นโรคเพราะเหตุดังนี้ หากได้ออกกำลังก็หายได้ ดังนั้น จึงเปรียบการออกกำลังว่าเป็นอาหารก็ได้ เป็นยาก็ได้
การออกกำลังในที่นี้ หมายความถึงการให้กล้ามเนื้อทำงานเพื่อประโยชน์ต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพ การทำงานอดิเรก หรือแม้การเล่นสนุก อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันคือ "กีฬา" หมายความถึงการออกกำลังที่เป็นการเล่นอย่างมีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ เช่น แบดมินตัน ฟุตบอล รวมทั้งไม้หึ่งหรือตี่จับด้วย การกระโดดโลดเต้นไปตามเรื่องไม่ควรจะเรียกว่ากีฬา เป็นแต่เพียงการเล่น โดยเหตุผลทำนองเดียวกับการตักน้ำรดต้นไม้ก็ไม่ใช่กีฬา แต่ถ้ามีการแข่งขันตักน้ำใส่ตุ่ม ก็นับว่าเป็นกีฬาได้ เพราะจะมีกฎเกณฑ์และกำหนดเวลา ปัจจุบันนี้นิยมใช้คำว่า "กีฬา" สำหรับการใช้กำลังกายเพื่อประโยชน์อื่นๆ นอกจากงานอาชีพหรืองานประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้สำหรับการออกกำลังกายเพื่อประโยชน์เกี่ยว กับการบริหาร กาย การเล่นสนุก และการแข่งขัน ชื่อของบทความนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำ "กีฬา" ตามความหมายในปัจจุบัน


ปฏิกิริยาและการปรับตัวของร่างกายต่อการออกกำลัง
การออกกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย เรียกว่า "ปฏิกิริยา" ซึ่งมีลักษณะและ ความรุนแรงต่างไปตามความหนักหน่วงของการออกกำลัง เมื่อเลิกออกกำลัง ปฏิกิริยาก็จะหายไป ถ้าออกกำลังซ้ำบ่อยๆ จะเกิด "การปรับตัว" ขึ้นในร่างกายทำให้สมรรถภาพเพิ่มขึ้นและปฏิกิริยามีความรุนแรงน้อยลง แม้จะออกกำลังหนักเท่าเดิม ตัวอย่างเช่น ในการวิ่งเหยาะ ผู้ที่วิ่งเป็นครั้งแรกอาจวิ่งได้เพียง ๕๐๐ เมตรก็เหนื่อย มีอาการหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว ปวดเมื่อยขา ฯลฯ จนในที่สุดต้องหยุด อาการที่กล่าวนี้เป็นปฏิกิริยาซึ่งเกิดตั้งแต่เริ่มวิ่ง และเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปตามปริมาณของการออกกำลัง จนทำต่อไปไม่ไหวถ้าออกกำลังเช่นที่กล่าวนี้บ่อยๆ โดยไม่ทิ้งระยะนานนักจะพบว่าการวิ่งระยะเท่าเดิม (๕๐๐ เมตร) ทำให้เหนื่อยน้อยลงตามลำดับ จนในที่สุดอาจวิ่งไกลออกไปถึง ๘๐๐หรือ ๙๐๐ เมตร นี้คือผลของการปรับตัว
ปฏิกิริยาต่อการออกกำลังกายเกิดขึ้นในหลาย ส่วนและมีลักษณะต่างๆ กัน จะกล่าวถึงเฉพาะที่สำคัญๆ
๑. กล้ามเนื้อ การออกกำลังทุกครั้งต้องอาศัยกล้ามเนื้อหดตัวดึงกระดูกซึ่งประกอบเป็นแขนขา และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง อาจมีการเคลื่อนไหวของส่วนนั้นๆ เรียกว่า การออกกำลังแบบเคลื่อนไหว (isotonic)หรือไม่มีก็ได้เรียกว่า การออกกำลังแบบเกร็งกล้าม(isometric) การหดตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นโดยมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในกล้ามเนื้อนั้น เอง คือ สารชื่ออะดีโนซีนไทรฟอสเฟต (adenosine triphospate) สลายตัวเป็นอะดีโนซีนไดฟอสเฟต (adenosine diphosphate) หลังจากกล้ามเนื้อหดตัวแล้วมีการกลับสังเคราะห์อะดีโนซีนไทรฟอสเฟตขึ้น ใหม่ โดยขบวนการที่สลับซับ-ซ้อนซึ่งรวมการ "เผา" (ออกซิไดซ์) กลูโคส เพื่อให้เกิดพลังงานสำหรับการสังเคราะห์สารที่เกี่ยวข้อง กล้ามเนื้อมีกลูโคสสะสมไว้ในปริมาณจำกัด ดังนั้น หากหดตัวติดต่อไปเป็นเวลานาน ก็จำต้องได้รับมาเพิ่มเติม เลือดนำกลูโคสมาจากตับซึ่งมีไกลโคเจน เก็บไว้เพื่อแปรเป็น กลูโคสเมื่อมีความต้องการ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัว หลอดเลือดภายในนั้นจะขยายให้เลือดไหลมากขึ้น นำกลูโคสและออกซิเจนมาส่งเพิ่มขึ้น และนำ คาร์บอนไดออกไซด์ และกรดต่างๆ ตลอดจนความร้อนที่เกิดขึ้นนำไปปล่อยที่ปอด ที่ไต และที่ผิวหนังตามลำดับ ที่กล่าวมานี้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อ
หากกล้ามเนื้อถูกใช้ให้ทำงานหนักบ่อยๆ ก็จะปรับตัวโดยเพิ่มขนาด (บางครั้งไม่เพิ่มจำนวนด้วย)ของเส้นใยในตัวมัน ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงมากขึ้น ดังที่ทราบกันโดยทั่วไป ถ้าหากในการออกกำลังครั้งหนึ่งๆ กล้ามเนื้อต้องทำงานซ้ำติดต่อไปเป็นเวลานาน ก็จะมีการปรับตัวในด้านความอดทนอีกด้วย
๒. หัวใจและหลอดเลือด เมื่อมีการออกกำลัง หัวใจจะได้รับการกระตุ้นทางระบบประสาทให้เต้นเร็วและแรงขึ้น สูบฉีดเลือดได้ปริมาณมากขึ้น หากต้องทำการเช่นนี้บ่อยๆ หัวใจก็จะปรับตัวโดยเพิ่มขนาดของเส้นใย (แบบเดียวกับกล้ามเนื้อแขนขา) ทำให้ผนังห้องหัวใจหนา มีแรงสูบฉีดและกำลังสำรองมากขึ้นขณะเดียวกันหลอดเลือดแดงซึ่งรับเลือดไปจาก หัวใจต้องรับเลือดในปริมาณเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่หัวใจเต้น เท่ากับถูกบังคับให้ออกกำลัง ทำให้มีความยืดหยุ่นดีและเกิดอาการแข็งกระด้างน้อยลง ทั้งสองประการนี้ทำให้เลือดไหลได้สะดวกและความดันเลือดไม่ขึ้นสูงมาก
๓. ปอดและการหายใจ ในการหายใจตามปกติ "ศูนย์หายใจ" ซึ่งอยู่ในส่วน "ท้ายสมอง " (medulla oblongata) สั่งการให้กล้ามเนื้อซี่โครงและกะบังลมหดตัว ทำให้ทรวงอกขยาย อากาศภายนอกดันผ่านจมูกหลอดลมคอ และหลอดลมปอดเข้าไปในถุงลม เป็นโอกาสให้ออกซิเจนในอากาศผ่านเข้าไปในเลือดในผนังของถุงลม ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดผ่านสวนทางมาสู่อากาศในถุงลม นั่นคือการหายใจเข้า เมื่ออากาศตันถุงลมพองถึงขนาด ศูนย์หายใจจะหยุดทำงาน กล้ามเนื้อซี่โครงและกะบังลมหย่อนตัวทรวงอกยุบ บีบอากาศออกมาจากถุงลมสู่ภายนอกนั้นคือการหายใจออก เมื่อออกกำลังศูนย์หายใจจะได้รับการกระตุ้นแรงกว่าปกติ การหายใจเข้าแรง เร็วหรือลึก หรือทั้งสองอย่างมากกว่าธรรมดา การหายใจออกก็เปลี่ยนตามไปด้วย ยิ่งออกกำลังหนักเท่าไร การหายใจก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งถึงขีดที่เรียกว่า "หายใจหอบ" ซึ่งแสดงถึงความเหนื่อย หากออกแรงหนักขึ้นๆ อาการหอบเพิ่มมากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงขั้นที่ศูนย์หายใจทำการเพิ่มต่อไปไม่ไหว การออกกำลังก็ต้องหยุดลง
ถ้าหากมีการออกกำลังหนักเสมอๆ กล้ามเนื้อหายใจจะเพิ่มความแข็งแรงและอดทนขึ้น พร้อมกับศูนย์หายใจอดทนต่อ การกระตุ้นมากขึ้น ทั้งสองอย่างนี้ช่วยให้สามารถหายใจหอบได้มากและนานขึ้น ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวซึ่งช่วยให้สามารถทำการได้ด้วยความอดทนมาก ขึ้น
๔. ระบบประสาท การออกกำลังเกิดขึ้นเพราะสมองสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว เมื่อกล้ามเนื้อทำงานไปเรื่อยๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางประสาทและเคมีย้อนไป "กด" ศูนย์สั่งการในสมองมากขึ้นๆ โดยลำดับในที่สุดเมื่อออกกำลังกายเหนื่อยถึงขีดหนึ่ง (ซึ่งขึ้นอยู่กับความเคยชินต่อการออกกำลัง) ศูนย์สั่งการก็ถูกกดจนต้องหยุดทำงานคือ ถึงระยะ "เหนื่อยจนหมดแรง"(ซึ่งที่จริง "แรง" ยังมีแต่สมองไม่สั่งการ)
ถ้าออกกำลังเสมอๆ ศูนย์สั่งการจะปรับตัวโดยมีความอดทนต่อการกดมากขึ้น ทำให้สามารถทำงานได้นานออกไปกว่าเคย และการออกกำลังกายดำเนินไปด้วยความอดทนมากขึ้น
ในร่างกายยังมีระบบประสาทอีกระบบหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในบังคับของจิตใจ เรียกว่า ระบบประสาทเสรีซึ่งทำการโดยอิสระเพื่อช่วยเหลืออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในการปรับการงานให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และความต้องการของส่วนต่างๆ ในร่างกาย เช่น บังคับให้หัวใจเต้นเร็วหรือช้า ให้หลอดเลือดและหลอดลมภายในปอดขยายหรือบีบ ให้เหงื่อหลั่งมากหรือน้อยเป็นต้น การออกกำลังทุกครั้งเป็นการกระตุ้น และ"การฝึก" ประสาทเสรี เมื่อทำการออกกำลังบ่อยๆ ก็มีการกระตุ้นบ่อยๆ เร่งให้ระบบประสาทเสรีปรับตัวให้ทำงานได้ว่องไวและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
๕. ระบบและส่วนอื่นๆ การออกกำลังอย่างค่อนข้าง หนักและอย่างหนัก ย่อมทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างมากในร่างกาย นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีที่ควรทราบอีกดังต่อไปนี้
๕.๑ กระดูกที่ถูกกล้ามเนื้อดึงจะมีผิวหนาและแข็งแรงขึ้น ในเด็ก กระดูกบางชิ้นจะยาวขึ้นด้วย ทำให้ร่างกายสูงใหญ่
๕.๒ เลือดจะมีสีเม็ดเลือด (เฮโมโกลบิน) และจำนวนเม็ดเลือดแดงมากขึ้น ปริมาตรเลือดสำรองที่เก็บไว้ในม้ามและที่อื่นๆ จะมากขึ้น
๕.๓ ต่อมน้ำเลี้ยงภายในที่หลั่งฮอร์โมนบางอย่าง เช่น ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง (พิทูอิทารี) ถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้น ทำให้เกิดผลเสมือนฉีดฮอร์โมนนั้นๆ เข้าในร่างกาย
๕.๔ มีการสะสมสารเคมีบางอย่างไว้สำหรับใช้ระหว่างการออกกำลัง เช่น กลูโคส เก็บไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ อะดีโนซีนไทรฟอสเฟต เก็บไว้ที่กล้ามเนื้อ วิตามินซี เก็บไว้ในต่อมหมวกไต เป็นต้น
๕.๕ ระบบควบคุมอุณหภูมิกายจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถกำจัดความร้อนที่เกิดจากการทำงานออกไปได้รวดเร็ว ร่างกายร้อนช้าลง ช่วยให้สามารถออกกำลังด้วยความอดทนมากขึ้น
[กลับหัวข้อหลัก]











การออกกำลังกายที่พอเหมาะ น้อยไป และมากไป
ถ้าเรากินอาหารน้อยไปเราก็หิว ถ้ากินมากไปก็ท้องอืด ต้องกินพอดีๆ จึงจะสบาย การออกกำลังก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำน้อยไปก็ไม่ได้ผล ทำมากไปก็มีโทษ ต้องทำให้พอเหมาะจึงจะได้ประโยชน์ที่ต้องการดังนั้น จึงควรทราบว่าเมื่อไรออกกำลังพอแล้ว ต่อไปนี้ เป็นวิธีง่ายๆ สำหรับใช้กับตัวเองหรือแนะนำผู้อื่นในเวลาออกกำลัง
๑. อาการเมื่อย เหมาะสำหรับใช้กับกายบริหาร กำหนดดูว่าส่วนที่กำลังใช้อยู่นั้นเริ่มมีอาการเมื่อยเมื่อใด (ตัวอย่างเช่น เริ่มเมื่อยเมื่อ "ชกลม" ได้ ๑๐ ครั้ง) ลองทำต่อไปอีกประมาณ ๑ ใน ๔ หรือ ๑ ใน ๕ ของที่ทำแล้ว จึงหยุด สังเกตว่าอาการเมื่อยที่เกิดแต่ต้นนั้นจะคงอยู่ต่อไปอีกนานสักเท่าใด ถ้าหายไปในเวลาสองสามชั่วโมง แสดงว่าที่ทำแล้วยังไม่พอ ควรจะเพิ่มได้อีก ถ้าหายภายใน ๒๔ ชั่วโมง แสดงว่าพอเหมาะแล้ว ถ้ายังเมื่อยอยู่เกิน ๓๖ ชั่วโมง แสดงว่าที่ทำนั้นมากเกินควร ครั้งต่อไป ต้องลดลง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มออกกำลัง จะได้ทราบความสามารถของ ตัว เมื่อกำหนดได้แล้วก็ออกกำลังไปตามนั้น ภายในระยะหนึ่งจะสังเกตว่า เมื่อยน้อยลง หรือไม่เมื่อยเลยนี้แปลว่าร่างกายมีสมรรถภาพสูงขึ้นแล้ว ถ้าต้องการให้เพิ่มขึ้นอีกก็ต้องออกกำลังให้มากขึ้น โดยลองสังเกต เช่นในครั้งแรก ทำเป็นขั้นๆ ไปเช่นนี้จนได้ผลที่ต้องการ
ข้อพึงจำคือหากออกกำลังเป็นประจำจนสมรรถภาพสูงขึ้นแล้ว ถ้าเว้นว่างไปเสีย สมรรถภาพจะลดลง ภายในหนึ่งสัปดาห์สมรรถภาพที่สูงขึ้นจะกลับลดลงไปประมาณร้อยละ ๓๐ และหมดสิ้นไปภายในสามสัปดาห์ ข้อนี้จะต้องระลึกถึงเมื่อกลับเริ่มออกกำลังใหม่ จะออกมากหรือหนักเท่าที่เคยไม่ได้ แต่ต้องลดน้อยลงตามส่วน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นใหม่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลร้ายของการออกกำลังเกิน
เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับนักกีฬาเก่งๆ ที่เว้นว่างกายฝึกซ้อมไปนาน เมื่อกลับมาเล่นใหม่ก็เล่นเต็มที่เหมือนเคยลืมนึกถึงความเสื่อมที่ได้เกิด ขึ้นในระหว่างที่ไม่ได้เล่นผลร้ายอาจมีตั้งแต่การบาดเจ็บน้อยหรือมากไปจนถึง กับอันตรายหนัก
๒. อาการเหนื่อย วิธีนี้เหมาะสำหรับการออกกำลังประเภทอดทน เช่น วิ่งเหยาะ (วิ่งช้าๆ เพื่อให้ได้ระยะทางมาก) สังเกตว่าวิ่งไปได้ระยะไกลหรือระยะเวลาประมาณเท่าใดจึงเริ่มมีอาการหอบ ปานกลางจะประมาณจากความรู้สึกว่าเหนื่อยค่อนข้างมากก็ได้หรือจะนับจำนวน ครั้งที่หายใจใน ๑ นาทีก็ได้ สำหรับวิธีหลังนี้ต้องนับไว้ก่อนว่าเวลาอยู่เฉยๆ หายใจนาทีละกี่ครั้ง
(หายใจเข้า ๑ ที หายใจออก ๑ ที นับเป็น ๑ ครั้ง)สมมติว่า ๒๐ ครั้ง เมื่อออกกำลังไปจนรู้สึกเหนื่อยค่อนข้างมากก็ลองนับดูใหม่ ถ้าการหายใจเพิ่มขึ้นไปเป็น ๒๖ หรือ ๒๘ ครั้งต่อนาที (คือเพิ่มร้อยละ ๓๐-๔๐) ก็ควรจะหยุดได้ ตัวเลขที่แสดงนี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เข้าใจเท่านั้น แต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อสำคัญที่สุดคือความรู้สึกว่า "เหนื่อยค่อนข้างมากแล้ว"
โดยทำนองเดียวกับในข้อที่แล้ว หากออกกำลังซ้ำไปๆ อาการเหนื่อยจะเกิดช้าเข้าและจะสามารถออกกำลังได้นานหรือมากขึ้นกว่าเดิม เป็นผลของการปรับตัวและการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย
๓. อัตราชีพจร ผู้ที่สนใจการออกกำลังอย่างจริงจังควรนับชีพจรของตนเอง อาจนับที่ข้อมือหรือที่คอก็ได้ วิธีแรกใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางกดปลายลงไปในร่องข้างเอ็นข้อมือทางด้านโคนนิ้วหัวแม่มือ (ของอีกมือหนึ่ง) ขยับจนรู้สึกการเต้นของหลอดเลือดเป็นจังหวะ ถือนาฬิกาที่มีเข็มวินาทีไว้ในมือที่ถูกคลำ (หรือสวมไว้ในมือที่ใช้คลำ) นับการเต้นของชีพจรตามไปขณะที่ตาดูนาฬิกา นับชั่ว ๑๐ วินาทีแล้วคูณด้วย ๖ เป็นอัตราใน ๑ นาทีก็ได้ (วิธีนี้ไม่แม่นทีเดียว แต่ดีพอสำหรับการกีฬา)
วิธีนับชีพจรที่คอ เหมาะสำหรับผู้ไม่ชำนาญเพราะหาหลอดเลือดได้ง่าย ใช้ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางค่อยๆ กดลงไปที่ข้างลูกกระเดือกจนรู้สึกการเต้นของหลอดเลือด (อย่ากดหนักเกินจำเป็น) นับแบบเดียวกับที่ข้อมือ
๔. ผลตามหลัง ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังมาก่อน หลังจากออกกำลังครั้งแรก อาจมีอาการปวดข้อดึงกล้ามเนื้อหรือปวดกล้ามเนื้อด้วยในวันเดียวกันนั้นหรือ วันรุ่งขึ้น และอาจเป็นอยู่ต่อไปอีกหนึ่งหรือสองวันเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าอาการยังอยู่เกินสองวันควรสงสัยว่าการออกกำลังที่ได้ทำนั้นอาจจะมาก เกินไปครั้งต่อไปควรทำให้น้อยลง
[กลับหัวข้อหลัก]




การออกกำลังน้อยไป
การออกกำลังน้อยไป หมายความว่าออกกำลังแล้วไม่ได้ผลที่ต้องการ เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง หรือไม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น การออกกำลังน้อยไปไม่ให้ผลร้าย เหมือนกับการออกกำลังมากไป เพียงแต่ทำให้ผิดหวังและเสียเวลา ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อออกกำลังน้อย ปฏิกิริยาของร่างกายก็มีน้อยหรือเบาหรืออ่อนไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการ ปรับตัว หากได้ออกกำลังไปแล้วหลายวัน ไม่รู้สึกหรือสังเกตไม่ได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงร่างกายดีขึ้นหรือ แข็งแรงขึ้น ควรสงสัยว่าออกกำลังไม่พอ ควรลองเพิ่มความหนักหรือความบ่อยของการออกกำลังขึ้น จนสังเกตได้ว่ามีผลดังที่ต้องการ
จากที่ได้บรรยายมานี้คงจะเข้าใจได้แล้วว่าผลดีของการออกกำลังนั้น เกิดจากการปรับตัวของร่างกายที่อวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ และต่อมน้ำเลี้ยงภายใน เป็นต้น การปรับตัวบ่อยๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ กลายเป็นการพัฒนาส่วนนั้นๆ ให้เพิ่มขนาดหรือความสามารถขึ้น มีกำลังสำรองมากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อออกกำลังมากเกินไป ผลร้ายเพียงส่วนน้อยอาจเกิดจากการปรับตัวจนเกินขีด ส่วนใหญ่เกิดจากความบุบสลายหรืออันตรายต่ออวัยวะ เช่น กล้ามเนื้อ เอ็น พังผืดข้อกระดูก และเยื่อหุ้มข้อ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสาเหตุของอาการต่างๆ ที่กล่าวแล้วซึ่งมักไม่รุนแรงมาก แต่การปรับตัวจนเกินความสามารถหรือเกินกำลังสำรอง มักเป็นผลของการออกกำลังเกินสมควรอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่ออวัยวะที่เกี่ยวข้องมีสภาพไม่ค่อยปกติอยู่ก่อน แล้ว อวัยวะที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องนี้คือหัวใจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น