วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดื่มน้ำมาก-เร็ว มีโทษอย่างไร

การดื่มน้ำ มาก-เร็ว ส่งผลเสียอย่างไร รศ.ดร.ประไพ ศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้ร่างกายมนุษย์จะมีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำ แต่หากร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากในเวลารวดเร็ว จะทำให้เกิดภาวะ "น้ำเกิน" หรือ "น้ำเป็นพิษ" ซึ่งตรงข้ามกับภาวะ "แห้งน้ำ" หรือร่างกาย "ขาดน้ำ" ที่เป็นภาวะโพแทสเซียมออกจากเซลล์ และพบบ่อยในผู้สูงอายุที่ไม่ดื่มน้ำ

"น้ำเป็นพิษ" เกิด จากน้ำในเซลล์และนอกเซลล์ขาดความสมดุล ส่งผลให้น้ำในเลือดสูง ความเข้มข้นของเลือดลดลงทำให้ร่างกายต้องปรับระบบให้สมดุล โดยขับแร่ธาตุโพแทสเซียมออกจากเซลล์เพื่อปรับความสมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และ นอกเซลล์

จะ รู้ได้อย่างไรว่าน้ำเป็นพิษ วิธีสังเกตง่ายๆ ว่า อาการเตือนเมื่อเกิดภาวะแร่ธาตุโพแทสเซียมไม่สมดุล คือ เป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง อ่อนหมดแรง ถ้าเกิดการเกร็งในสมอง ปอด หัวใจ ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

ปริมาณ น้ำมากๆ ที่ร่างกายรับเข้าไปจนเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ บอกชัดเจนไม่ได้ ถ้าคนดื่มน้ำเองสมองจะบอกว่า อิ่มแล้ว เริ่มจุก แต่การบังคับให้ดื่มน้ำ ถ้าเริ่มอ่อนเพลีย เกร็ง ถ้าหยุดรับน้ำเพิ่ม ร่างกายจะขับน้ำออก การดื่มมากๆ แต่ช้าๆ ไม่เป็นอันตราย ไตขับน้ำออกทางปัสสาวะได้ ถ้าโหมใส่เข้าไปมากๆ เกินร้อยละ 10 ของปริมาณที่ร่างกายได้รับปกติ มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้

ร่างกายประกอบด้วยน้ำร้อยละ 70 ถือว่าน้ำเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับร่างกายร่วมกับอาหารทั้ง 5 หมู่ ปกติร่างกายควรได้รับน้ำสะอาดวันละ 1,200 ซีซี หรือ 8-10 แก้ว หากดื่มน้ำน้อยกว่านี้ อาจเกิดภาวะสูญเสียน้ำถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ร่างกายต้องได้รับน้ำอย่างเหมาะสม โดยน้ำต้มสุกมีความสะอาดที่สุด ส่วนน้ำดื่มบรรจุขวด ควรเลือกที่มีตรารับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น