วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

วันกองทัพบก



การกำหนดว่าวันไหนเป็นวันที่ระลึกของเหล่าทัพใด เริ่มมีมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ครั้งนั้นรัฐบาลได้จัดให้มีวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนาหน่วยราชการต่างๆ ขึ้น และประกาศให้วันที่ "๘ เมษายน" เป็น "วันกลาโหม" โดยพิจารณาเห็นว่า วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐ เป็นวันที่ออกประกาศการจัดการทหารและพระราชบัญญัติจัดตั้ง กรมยุทธนาธิการ ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดการทหารไทยแบบสมัยใหม่ และมีความเจริญก้าวหน้าติดต่อกันมาจนทุกวันนี้ ในปีต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศกำหนดวันที่ระลึกของกองทัพบก คือ วันที ๒๘ กรกฎาคม กองทัพเรือ คือวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน และ กองทัพอากาศ คือวันที่ ๑๐ มกราคม ตามลำดับ

การที่กองทัพบกเสนอวันที่ ๒๘ กรกฎาคม เป็นวันกองทัพบกในครั้งนั้น เนื่องจากวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นวันที่กองทัพไทยได้ฉลองชัยชนะกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส โดยกระทำพิธีสวนสนามรับมอบดินแดนในอินโดจีน ที่จังหวัดพระตะบอง โดยมี พล.ท.หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี ดินแดนที่ประเทศไทยได้รับคืนคราวนั้นคือ ดินแดนของไทยทั้งหมดที่เสียให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ และ พ.ศ.๒๔๔๙ อันได้แก่

๑. ดินแดนแคว้นหลวงพระบาง ที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
๒. ดินแดนแคว้นจัมปาศักดิ์ ที่อยู่ตรงข้ามปากเซ
๓. ดินแดนกัมพูชา ได้แก่ เมืองพระตะบอง ศรีโสภณ และไพลิน

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๔ สภากองทัพบกพิจารณาเห็นว่า ควรเลือกวันที่มีความสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติในทางตำนานและประวัติศาสตร์ ของชาติเป็นวันกองทัพบก ในที่สุด กองทัพบกได้กำหนดให้วันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ เป็นวันที่ระลึกสำหรับกองทัพบก โดยพิจารณาเห็นว่า การกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้น นับเป็นการยุทธทางบกครั้งยิ่งใหญ่ ชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำมาซึ่งเอกราชของประเทศอย่างสมบูรณ์ และได้รับการยกย่องสรรเสริญทั่วไป ทั้งทวีปเอเซีย และทวีปยุโรป วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งต่อปวงชนชาวไทย เป็นวันที่คนไทยพึงตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งยังเกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง ใน พ.ศ.๒๔๙๔ สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ระลึกของกองทัพบก

เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ กระทรวงกลาโหมเห็นสมควรรวมวันที่ระลึกของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นวันเดียวกัน วันที่ระลึกกระทรวงกลาโหม คือวันที่ ๘ เมษายน และให้เรียกว่า วันกองทัพไทย ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นในด้านความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นของกองทัพไทย ตลอดจนเน้นความประหยัดเป็นหลัก สำนักนายกรับมนตรีจึงประกาศให้วันที่ ๘ เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกกองทัพไทย

ครั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ได้ดำริว่า วันกองทัพไทยน่าจะเปลี่ยนเอาวันที่มีความสำคัญและมีความหมายยิ่งสำหรับทหาร ทั้งสามเหล่าทัพ พึงระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ปลุกใจให้เกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง และพร้อมที่จะสละชีวิตเลือดเนื้อเป็นชาติพลี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่ทหาร ทั้งเป็นที่ชื่นชมยินดีของปวงชนชาวไทยอีกด้วย คณะรัฐตรีจึงมีมติกำหนดให้ วันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย โดยใช้เหตุผลเดียวกับวันกองทัพบก และวันที่ ๘ เมษายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนากระทรวงกลาโหม โดยกำหนดให้ใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔

จะเห็นได้ว่า โดยหลักฐานแล้ว วันที่ระลึกของทั้ง ๓ เหล่าทัพ ได้ถูกนำเข้าไปรวมเป็นวันกองทัพไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ แต่การที่กองทัพต่างๆ จัดงานเฉลิมฉลองวันกองทัพของตนนั้นเป็นการกระทำภายในเหล่าทัพตนเท่านั้น เช่น ทอ.จัดงานวันกองทัพอากาศ ในวันที่ ๒๗ มีนาคม และ ทร. จัดงานวันกองทัพเรือ ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ส่วน ทบ. ยังคงยึดถือวันที่ ๒๕ มกราคมเป็นวันกองทัพบก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น